BioThai จัดเสวนาหายนะปลาหมอคางดำ-นักวิชาการชี้ต้องกำจัดให้สิ้นซากภายใน 3 ปี หวั่นกระทบประเทศเพื่อนบ้าน-ตัวแทนชาวประมงจี้รัฐต้องใช้กฎหมายกับเอกชนอย่างจริงจัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร จัดงานเสวนา หัวข้อ หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ
ภายในงานเสวนา มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ชาวประมงพื้นที่สมุทรสงคราม และประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาปลาหมอคางดำที่ระบาดในอำเภอแม่กลอง ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในปี 2554 แต่เมื่อเกิดความเสียหายประชาชนต้องมาร่วมรับผิดชอบ ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนก่อปัญหา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาด้านกฎหมายของไทย ที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายมักจะใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับประชาชนรายเล็ก แต่มือไม้อ่อนกับเอกชนที่มีอำนาจ ทุกคนรู้ว่าซีพีเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ แต่ก็อาจจะมีคนอื่นนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายก็เป็นไปได้ แต่สิ่งที่ซีพีปฏิเสธไม่ได้เพราะซีพีนำปลาหมอมาเพาะเลี้ยงในปี 2553 แล้วปี 2554 ก็เจอปลาหมอคางดำในพื้นที่ของตนเอง ซึ่ง ณ เวลานั้นตนเองก็ยังไม่รู้ว่าคือปลาอะไร แต่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในท้องถิ่น
“กรมประมงจริงจังมากกับรายเล็ก ๆ แต่กับรายใหญ่ ๆ กล้าหรือไม่ เราไม่สนใจว่าใครผิด ใครถูก แต่ในมุมของเรา เราเชื่อว่าคนที่ผิดคือคนถืออำนาจรัฐ ถ้าคุณไม่มือไม้อ่อนไปเซ็นอำนาจให้เขา ถ้านโยบายไม่เอื้อ เอกชนก็ทำร้ายประชาชนไม่ได้” นางบุญยืน กล่าว
ดร.ชวลิต วิทยานันท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ต่อมามีการอนุญาตนำเข้าครั้งแรกในปี 2549 แต่ตอนนั้นซีพียังหาปลาไม่ได้ ต่อมาในปี 2553 จากนั้นปัญหาก็เกิดขึ้นประมาณในปี 2554 ที่เริ่มพบเจอปลาหมอคางดำในสมุทรสงคราม ในปี 2555 เริ่มระบาดหนักมีความเสียหายในนากุ้ง ปี 2557 ระบาดไปถึงบางขุนเทียน จนปัจจุบันระบาดไปถึงสงขลาและจันทบุรี โดยจังหวัดนนทบุรีมีปลาหมอคางดำระบาดสูงสุด ซึ่งปลาชนิดนี้อยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย รวมถึงน้ำเน่า โดยการกำจัดปลาหมอคางดำต้องกำจัดให้เหลือ 0 ตัว โดยใช้ทั้งกำลังของประชาชนและกำลังของภาครัฐ เมื่อกำจัดเหลือ 0 ตัวก็จะไม่กระทบกับระบบนิเวศน์มากนักเนื่องจากอาจกระทบกับปลาท้องถิ่นบางชนิด แต่อย่างไรก็ตามที่ใดที่มีปลาหมอคางดำก็ไม่ค่อยมีปลาท้องถิ่นมากนัก อีกทั้งปลาหมอคางดำยังทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอีกด้วย
“กำจัดเหลือ 0 ตัวดีกว่าการปล่อยให้เหลือรอดอยู่ 1-2 ตัว การกำจัดต้องเป็นระยะยาว ผมตั้งเป้าในการกำจัดไว้ไม่ควรเกิน 3 ปี ที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบ ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าเราละเลยก็คือ ปลาอาจข้ามไปมาเลเซีย แล้วอาจอ้อมมาถึงสิงคโปร์ แล้วมาถึงภูเก็ตแล้วอาจมาถึงบังคลาเทศ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากความสมบูรณ์ของแม่น้ำในประเทศต่าง ๆ มีความสมบูรณ์มากโดยเฉพาะในกัมพูชา มีโอกาสที่ปลาหมอคางดำจะไปทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศเหล่านั้น” ดร.ชวลิต กล่าว
นายอัคคพล เสนาณรงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า ในการเรียกร้องให้เอกชนรับผิดชอบนั้น เกษตรกรผู้เสียหายควรรวมกลุ่มเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยที่ได้รับความเสียหาย หวังว่าเอกชนจะใจกว้างเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีเพื่อจะได้ชี้แจงต่อสาธารณชนได้ เพื่อสร้างความโปร่งใส
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า กรณีฟาร์มยี่สารที่เป็นแหล่งวิจัยปลาหมอคางดำของซีพี มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ
- ซีพีเอฟเป็นรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553
- รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุชัดเจนว่าสิ่งที่เอกชนทำที่ฟาร์มยี่สารละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ
- เอกสารรายงานของกรมประมงระบุว่า การระบาดของปลาหมอคางดำเริ่มต้นที่ คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในตำบลแพรกหนามแดง กับตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งคลองดอนจั่น คลองหลวง คลองสมบูรณ์ อยู่ใกล้กับฟาร์มยี่สาร
- รายงานการศึกษาการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ตีพิมพ์เมื่อปี 2565 พบว่า การระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน และไม่ได้เกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง
- ข้อมูลจากอดีตพนักงานฟาร์มยี่สารระบุว่า ปลาหมอคางดำไม่ได้ตายอย่างที่เป็นข่าว แต่มีการเพาะเลี้ยงต่อมาอีกหลายรุ่น สาเหตุที่ปลาหมอคางดำหลุดออกไปสู่ธรรมชาติเนื่องจากมีการสูบน้ำเสียไปปล่อย (ดูภาพประกอบ)