ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. กำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรม ป.ป.ช.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สศก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และมีมติรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอว่าได้พิจารณาร่างพ.ร.ป.ที่ สศก. ตรวจพิจารณาแล้ว ยืนยันให้ดำเนินการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวต่อไป ซึ่งร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 โดยบัญญัติเพิ่มเติมหลักการในการจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่ประชาชนถูกร้อง ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการให้ถ้อยคำดังกล่าว
ร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สศก. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของ สศก. รวมทั้งจัดทำหนังสือเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่องการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ จำนวน 1 ฉบับ โดยออกเป็นร่างอนุบัญญัติที่ต้องออกตามมาตรา 132/2 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการให้ความช่วยเหลือ การขอรับความช่วยเหลือ และการยกเลิกการให้ความช่วยเหลือ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 โดยบัญญัติเพิ่มเติมหลักการในการจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูล หรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรม ป.ป.ช. ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดี หรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าว