‘คณะกรรมการ ป.ป.ช.’ เสนอ ‘ครม.’ รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ‘ทะเบียนประวัติอาชญากร’ หลังมีร้องเรียนมาก
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการประชุมครั้งที่ 70/2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 ได้มีมติเห็นชอบการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร และมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
สำหรับเรื่องดังกล่าว มีที่มาจากการที่ปรากฏข้อร้องเรียน จากประชาชนผู้เคยตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา และคดีได้มีการถอนคำร้องทุกข์ อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีถึงที่สุดว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือศาลยกฟ้อง ซึ่งหมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ปรากฏว่ายังมีข้อมูลดังกล่าวในฐานข้อมูลระบบสารสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้เป็น “ผู้มีประวัติอาชญากรรมติดตัว” เสมือนเป็นผู้ที่กระทำความผิดนั้นอยู่
ทั้งนี้ ผู้มีประวัติอาชญากรรมติดตัวจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงาน (Prospective Employment) เนื่องจากการประกอบอาชีพบางประเภทมีการกำหนดคุณสมบัติหรือคุณลักษณะห้ามผู้กระทำความผิดประกอบอาชีพ และพบปัญหาการจัดเก็บข้อมูลประวัติอาชญากรรมที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน และไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหรือนำข้อมูลมาใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมร่วมกัน นำไปสู่การกระทำความผิดทางอาญา
เช่น มีการหลอกลวงประชาชนด้วยการ แอบอ้างว่าเป็นผู้มีความสามารถตรวจสอบและลบข้อมูลประวัติอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เช่น เป็นช่องทางให้เจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อจัดการกับทะเบียนประวัติอาชญากร และเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจดำเนินการกับทะเบียนประวัติ เป็นต้น สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการหรือแนวทางการประสานความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาข้อเท็จจริงในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า การบริหารจัดการข้อมูลประวัติอาชญากร เป็นกระบวนการดำเนินงานที่มีกฎหมาย ระเบียบและแนวทางปฏิบัติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้มีข้อร้องเรียน/ข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงเห็นส่งเรื่องดังกล่าวไป ครม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนว่า ในแต่ละขั้นตอนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดกรอบเวลาเท่าใด พนักงานสอบสวนต้องรายงาน กองทะเบียนประวัติอาชญากรจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด และกองทะเบียนประวัติต้องดำเนินการในกรอบระยะเวลาเท่าใด เพื่อคัดแยกทะเบียนประวัติ
คณะกรรมการที่พิจารณาคัดแยกต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาเท่าใด ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเรียกรับ หรือประวิงเวลาแลกกับการไม่นำชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร (ระเบียบเก่า) รวมถึงไม่ดำเนินการนำชื่อบุคคลใดเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญาดังกล่าว ให้ปรากฏในทะเบียนประวัติอาชญากรอีกด้วย (ระเบียบใหม่)
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง เห็นควรผลักดันนโยบาย/แผนการการดำเนินงาน ในการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชกรแบบบูรณาการ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือแนวทางการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจัดตั้งคณะทำงานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อร่วมหาแนวทางบูรณาการฐานข้อมูล หรือการ Clearing House ที่จะแก้ไขปัญหาข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรไม่เป็นปัจจุบัน
ปัญหาข้อมูลผลคดีล่าช้า ลดขั้นตอนการคัดแยกทะเบียนประวัติ ลดปริมาณงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงทำให้ได้ฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการยุติธรรมร่วมกัน โดยคำนึงถึง “ธรรมาภิบาลข้อมูล” หรือ DATA GOVERNANCE” ควบคู่กับแนวคิด“ความปลอดภัย ทางไซเบอร์” หรือ CYBER SECURITY
ขณะที่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น เห็นควรให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการทบทวนปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชกร แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และเกิดการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
“การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร” ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สำหรับแนวทางการป้องกัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง การทุจริต และจะนำไปสู่การบูรณาการฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมีระบบเพื่อใช้ประโยชน์ระหว่างหน่วยงานยุติธรรมร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป” สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุ