คณบดีแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต จี้ สธ.ทวนประกาศ 'ดึงกัญชากลับยาเสพติด' พร้อมยื่นแก้ไขข้อเสนอร่างใหม่ให้สอดคล้องความเป็นจริงในการใช้รักษาโรคในปัจจุบัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เรื่อง ประกาศ ขอปรับแก้เนื้อหาข้อเสนอใหม่ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังจากที่ได้นำส่งหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
มีข้อความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจึงขอแจ้งเพื่อทำการแก้ไขดังนี้
จากเดิมข้อความ ข้อ 3 (ง) ที่มีคำผิดความว่า “(ง) สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัด ที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ข) และ (ค) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก”
ขอแก้ไขเป็น “(ง) สารสกัดจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัด ที่ไม่ใช่สารสกัดตาม (ก) และ (ข) ซึ่งมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก”
เพื่อให้ มีความหมายว่า แพทย์ทุกสาขาอาชีพที่มีกฎหมายรองรับ และผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายแล้วย่อมต้องมีความปลอดภัย สามารถใช้และจ่ายยาสารสกัดกัญชาที่ปลูกในประเทศ แม้มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) เกินปริมาณร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักได้โดยไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการรักษาที่มีอยู่ในประเทศไทย
โดยจะจัดส่งฉบับแก้ไขให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 9.00 น. และขอเผยแพร่ให้สื่อมวลชนทราบตามเอกสารใหม่ที่แจ้งในโพสต์นี้นี้ และขอกราบอภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมา ณโอกาสนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 นายปานเทพ ได้เข้ายื่นหนังสือแก่ รมว.สธ.ขอให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. ....
โดยรายละเอียด ดังนี้
ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 (2)แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการระบุชื่อประเภทยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยได้รวมถึงช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชงและยาง ดังที่ปรากฏเอกสารที่เผยแพร่ฉบับรับฟังความคิดเห็นแล้วนั้น
อย่างไรก็ตามข้อเสนอในมติดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ด้วยเพราะมีผู้เสนอหนังสือต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดหลายฉบับ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์และประมวลผลให้เป็นข้อยุติในความจริงที่แตกต่างกันว่าสิ่งใดจริงและสิ่งใดเท็จกันแน่ โดยปล่อยให้มีการลงมติโดยใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการแต่ละคน
แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ข้อท้วงติงอันเป็นสาระสำคัญบางประการของกรรมการเสียงข้างน้อยก็ยังไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนถึงผลกระทบและการแก้ไขปัญหาอันอาจเกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประการแรก มีการเลือกใช้ข้อมูลของผู้ที่ต่อต้านกัญชาเป็นฐานข้อมูลหลัก ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีการเก็บข้อมูล และยังมีการตีความที่ผิดพลาดด้วยในการตัดสินใจ ดังตัวอย่างที่ข้าพเจ้าได้เขียนบทความเอาไว้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 พบมีข้อมูลการบิดเบือนความจริงตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2. อย่างน้อย 5 ประเด็น คือ
ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้ฐานข้อมูลปัจจุบันผิดพลาดว่าผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด เพราะมีการนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ “ผิดปกติ”
- ไม่คำนึงถึงประเด็นผลกระทบกัญชาในการช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) โดยเฉพาะยาบ้า รวมถึงการลดการดื่มแอลกอฮอล์และลดการสูบบุหรี่ และไม่ได้คำนึงการเปรียบเทียบระหว่างข้อดีข้อเสียของการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อันเป็นสาระสำคัญของการตัดสินใจในนโยบายเรื่องกัญชา
- ไม่คำนึงถึงกรณีผู้ที่มีอาการยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ แต่แอบอ้างรายงานเท็จว่าใช้กัญชา โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจสารเสพติดจริง
- ไม่คำนึงถึงประเด็นการใช้กัญชาเพื่อลดยาจิตเวช หรือเป็นจิตเวชจึงหันมาใช้กัญชากันแน่
- ไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำของเด็กเยาวชนที่มาจากปัญหาด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเรื่องส่วนตัวจึงใช้กัญชาหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องหาข้อเท็จจริงให้ปรากฏเสียก่อน การเลือกตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่มีการบิดเบือนหรือผิดพลาดย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจที่อาจสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนได้ จึงควรตั้งคณะกรรมการทางด้านวิชาการที่ร่วมกันดำเนินการสำรวจและวิจัยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสียก่อน
ประการที่สอง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง เป็นยาเสพติดได้เคยทำมาแล้วภายใต้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แต่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์
โดยปัญหาความจริงพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา หรือน้ำมันกัญชาให้กับผู้ป่วย ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนที่ได้ใบอนุญาตเป็นคลินิกกัญชาที่พร้อมจ่ายกัญชากลับไม่สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาที่ถูกกฎหมายได้ และภาครัฐที่มีน้ำมันกัญชาเหลือครึ่งหนึ่งก็ไม่ขายหรือผลิตขายให้กับคลินิกเอกชนโดยทั่วไปที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชา
โดยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง (พ.ศ. 2563-2564) โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะวิจัย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีการพัฒนาการให้ ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชง เป็นยาเสพติดแต่ใช้ในทางการแพทย์ได้ พบว่า
มีประชาชนใช้นอกข้อบ่งใช้ในโรคและอาการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 มีการจ่ายยาในระบบอย่างถูกกฎหมายเพียงร้อยละ 16 ในขณะที่ประชาชนนอกระบบอย่างผิดกฎหมายร้อยละ 84 แต่ประชาชนกลับมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก ร้อยละ 93 และผู้ที่ใช้กัญชาสามารถลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้มากถึงร้อยละ 58
สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาโดยส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นอาชญากร
ดังนั้นหากรัฐบาลดำเนินนโยบายแบบเดิม ที่ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติดแล้วคิดว่าจะใช้ทางการแพทย์ได้นั้น ก็อาจจะได้รับผลแบบเดิม คือประชาชนและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีปัจจัยเพิ่มเติมที่จะได้กล่าวถึงต่อไปในประการต่อไป
ประการที่สาม ปัญหาข้อกฎหมายที่มีปัญหาการกีดกั้นวิชาชีพที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับผู้ป่วย แต่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้โดยกฎหมายลำดับรอง และควรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป
เนื่องด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน มีการปรับสาระสำคัญ แตกต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษที่ได้มีการยกเลิกไป โดยแต่เดิมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้มีความชัดเจนให้ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถจ่ายยากัญชา และปรุงยาเฉพาะรายได้
โดยผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง (พ.ศ. 2563-2564) โดย ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อังษณางค์กรชัยและคณะวิจัย ได้ทำให้เห็นว่า กลุ่มแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เป็น“กลุ่มแพทย์หลัก” ที่มีการจ่ายยาได้จำนวนมากกว่าแพทย์แผนปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึง น้ำมันกัญชาสูตรต่างๆ เช่น น้ำมันหมอเดชา น้ำมันเมตาโอสถ น้ำมันการุณย์โอสถ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำมันกัญชาซึ่งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน จ่ายให้คนไข้แต่เดิมมาก่อนที่ภาครัฐจะประกาศยอมรับเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจ่ายให้คนไข้ได้
แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบันในมาตรา 32 กลับไม่ระบุให้ชัดถึงวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านให้มีความชัดเจนดังที่เคยปรากฏตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แต่กลับเลี่ยงใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น“
เปิดช่องทำให้เกิดการตีความหรือรอกฎหมายลำดับรองว่าจะหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านหรือไม่ อันเป็นช่องทางในการกีดกั้นวิชาชีพกลุ่มนี้ในเวลาต่อมาได้บัญญัติเอาไว้ว่า
“มาตรา 32 การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกำหนด”
ปรากฏความจริงต่อมาว่า มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. 2567 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 กลับไม่ให้แพทย์แผนไทยจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้
อีกทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้านให้สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกด้วย
โดยจากประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 32 ที่มีบทบัญญัติไม่กล่าวถึงแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน เมื่อพิจารณาไปพร้อมกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถสั่งใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 “ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง” พ.ศ. 2567 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านจ่ายสารสกัดกัญชา กัญชงได้ การกระทำดังกล่าวของรัฐเช่นนี้ อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 55 ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้นหากมีการนำช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด อาจทำให้เกิดอุปสรรคอันสำคัญจากการกีดกันทางวิชาชีพทำให้ “กลุ่มแพทย์หลัก” ที่เคยจ่ายยาน้ำมันกัญชาจะไม่สามารถจ่ายน้ำมันซึ่งอยู่ในรูปของสารสกัดกัญชากัญชงได้อีกต่อไป อันอาจทำให้สถานการณ์ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงกัญชาเลวร้ายยิ่งกว่าผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ เป็นการศึกษาระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564
อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขโดยกฎหมายลำดับรองได้ จึงควรเร่งแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขคืนสิทธิให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ให้สามารถจ่ายกัญชารวมถึงสารสกัดกัญชากัญชงได้ดังเดิม และควรแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดมิให้มีการกีดกันวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านต่อไป
ประการที่สี่ ปัญหาข้อกฎหมายที่มีปัญหา “ความเสี่ยง” ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรืออาจผิดกฎหมายหากยกเว้นไม่ปฏิบัติตามโดยกฎหมายลำดับรอง
เนื่องด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2564 มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในบทบาทเพิ่มขึ้นของเภสัชกรในยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จนถึงขั้นอาจมีปัญหาที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือหากปฏิบัติได้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่างจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ได้ยกเลิกไป แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาในประเด็นดังกล่าวอันเนื่องด้วยกระท่อมและกัญชาได้ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไปเสียก่อนที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว
โดยปัญหาที่สำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในอำนาจหน้าที่ของเภสัชกรที่อาจกลายเป็นอุปสรรคอันสำคัญจนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายลำดับรองได้ คือมาตรา 40 และ 95
โดยในมาตรา 40 บัญญัติว่า
“มาตรา 40 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง”
และมาตรา 95 บัญญัติว่า
“มาตรา 95 ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดำเนินการผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ”
อย่างไรก็ตามคำว่า “ผลิต” ได้ปรากฏนิยามตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ว่า
“ผลิต หมายถึง เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์”
เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง ย่อมต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา อันเป็นการฝืนธรรมชาติและความเป็นจริงในการดำเนินการ
ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง รวมถึง คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชา กัญชง ซึ่งเดิมสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรทุกชนิด ให้คนไข้ได้ด้วยแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเป็นกำลังสำคัญในการจ่ายยากัญชาให้คนไข้ ก็จะต้องจัดให้มีเภสัชกรซึ่งเป็นคนละวิชาชีพอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริงในวิถีของวิชาชีพ
ทั้งนี้หากผู้ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนไม่มีเภสัชกรอยู่ตลอดเวลาต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 150
บทบัญญัติดังกล่าวไม่สามารถเลี่ยงการมีเภสัชกรอยู่ประจำได้ เนื่องจากบัญญัติในระดับมาตรหลักในประมวลกฎหมายยาเสพติด เพิ่มความเสี่ยงทางกฎหมายในชั้นศาลหากฝืนเลี่ยงโดยการออกกฎหมายลำดับรอง
และหากปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเกษตรกรและคลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ไม่เอื้อต่อการจ่ายยากัญชายิ่งกว่าเดิม นอกจากจะ
ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวิชาชีพแล้ว ยังอาจสร้างภาระให้กับผู้ป่วยในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยต้องเลี่ยงไปใช้กัญชาหรือสารสกัดที่ผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านส่งร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. ....... ที่ให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 คืนกลับคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพร้อมหนังสือฉบับนี้ เพื่อให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้พิจารณาทบทวนโดยตั้งอนุกรรมการซึ่งเป็นผู้มีความรู้และมีส่วนได้เสียเพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบด้าน และขอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทบทวนมติและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
ยื่นร่างประกาศกระทรวงให้ 'กัญชาเป็นยาเสพติด' แต่ต้องมีเงื่อนไข 5 หลักการ
นอกจากนี้ นายปานเทพ ยังยื่นเรื่องข้อเสนอใหม่อีกด้วย มีเนื้อความดังนี้
ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้มีมติเสียงข้างมากเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 (2)แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการระบุชื่อโดยได้รวมถึงช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง และยาง ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำหนังสือขอให้ท่านได้ทบทวนร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว
โดยสาระสำคัญของการเรียกร้องให้มีการทบทวนการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นั้น ด้วยเพราะมี 4 ปัจจัยที่สำคัญคือ
- มีการเลือกใช้ข้อมูลของผู้ที่ต่อต้านกัญชาเป็นฐานข้อมูลหลักในการตัดสินใจให้ช่อดอกกัญชาและกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีการเก็บข้อมูลและการตีความที่ไม่ถูกต้อง
- อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์เหมือนในอดีต
- มีปัญหาข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิมโดยมีการกีดกั้น วิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่ให้จ่ายยาที่เป็นสารสกัดกัญชาและกัญชงซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมสำหรับผู้ป่วยได้
- ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายยาเสพติดเดิม โดยมีการะบุให้เภสัชกรต้องอยู่กับเกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตในการปลูกกัญชาตลอดเวลาทำการ และรวมถึงต้องมีเภสัชกรอยู่ในคลินิกแพทย์แผนไทยหรือคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่จ่ายยากัญชาตลอดเวลาทำการด้วย อันเป็นการบั่นทอนการปลูกของเกษตรกรรายย่อย และปิดกั้นสถานพยาบาลให้มีความสามารถในการจำหน่ายกัญชาให้กับผู้ป่วยได้ยากยิ่งกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยสถานการณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชง ได้กระจัดกระจายเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับทั้งในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและหลายมิติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรตรากฎหมายเป็นการเฉพาะในฉบับเดียว และแก้ปัญหาที่มีความหลากหลายมากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นยาเสพติดอย่างเดียวหรือประยุกต์ใช้กฎหมายฉบับอื่นก็ยังไม่มีความเหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ที่ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ไม่สามารถจัดทำขึ้นสำเร็จได้เป็นเวลา 2 ปีนับตั้งแต่การนำกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ได้ก่อให้เกิดปัญหาบทลงโทษที่ไม่รุนแรงพอต่อการกระทำความผิด และกำลังพลของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มข้นต่อผู้กระทำความผิด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้ลงทุนโดยสุจริตก่อให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้จึงควรจะมีการแยกแยะ “วิธีการใช้” และพิจารณาในประเด็นเรื่องเงื่อนไข “เวลา” ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ยังเป็นจุดอ่อนต่อนโยบายกัญชา และยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าธุรกิจที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อระบบเศรษฐกิจควรจะต้องได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรอการประกาศกฎหมายลำดับรองที่ยังไม่แน่ชัดอีกด้วย
ในขณะเดียวกันต้องให้โอกาสผู้ประกอบการปรับตัวให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับต่อสังคมไทยและต่างประเทศมากขึ้น โดยมีกฎหมายที่สามารถกำกับดูแลและบังคับใช้ได้จริง และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเพียงพอ
ดังนั้น “การบังคับใช้”กฎหมายในปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นสิ่งที่ช้าเกินไปในการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่สังคมมีความเป็นห่วง ในขณะที่ “การสร้างความเชื่อมั่น”ต่อนักลงทุนไม่สามารถ “รอเวลา“ เพื่อตรากฎหมายลำดับรองได้เช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยยังต้องการ “เวลา”ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับงานวิจัยเพื่อยุติข้อขัดแย้งในการใช้ประโยชน์และโทษของกัญชาในการพึ่งพาตัวเองของประชาชนอีกด้วย ที่ไม่สามารถผลีผลามตัดสิทธิประชาชนไปก่อนโดยไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริง
ในความเป็นจริงแล้ว การประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชาและช่อดอกกัญชงเป็นยาเสพติด นอกจากจะมีปัญหาหลายด้านทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทางปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมหาศาลอีกด้วย จึงขอเสนอหลักการที่เป็น “ข้อเสนอใหม่”เพื่อให้นิเวศของกัญชายังคงเดินต่อไปได้และมีการปรับตัวให้มีความเหมาะสม โดยมีการแยกแยะดังนี้
หลักการที่ 1 ให้ช่อดอกกัญชา ยาง และสารสกัด กลับไปเป็นยาเสพติดอย่างมีเงื่อนไข คือผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการคุ้มครอง ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายและมีบทลงโทษตามกฎหมายโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด และทำได้ทันทีไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568
ดังนั้นร้านกัญชาที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศก็ดี การละเมิดจำหน่ายกัญชาให้กับเด็กและเยาวชนก็ดี การเปิดร้านขายกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็ดี จะต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที โดยไม่ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2568
หลักการที่ 2 จะต้องเปิดเสรีทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพ แพทย์ทุกสาขาจะต้องมีเสรีภาพในการใช้กัญชา รับผิดชอบและติดตามผลของคนไข้เอง ซึ่งแต่ละวิชาชีพต่างมีสภาวิชาชีพกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงให้มีผลทันทีนับแต่วันประกาศ
หลักการที่ 3 ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพ จะต้องได้เข้าถึงยากัญชาได้ ร้านกัญชาจึงไม่ต้องปิดร้าน แต่จะต้องปรับตัวเป็นสถานที่จำหน่ายสมุนไพรควบคุมสำหรับผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์ในทุกวิชาชีพโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุมให้ได้ตามวัตถุประสงค์นี้ต่อไป
หลักการที่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีช่อดอกกัญชา ยาง หรือสารสกัด หากทำตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง กฎหมายว่าด้วยยา และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยแล้ว จะต้องได้รับการคุ้มครองทันทีว่าไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทันทีในวันออกประกาศ ซึ่งเป็นลักษณะข้อความเดียวกันกับ พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ใดที่ดำเนินการไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเช่นกัน
หลักการที่ 5 เมื่อวิกฤติของเวลากับปัญหาที่สังคมห่วงใย ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขแบบมีเงื่อนได้ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 แล้ว ย่อมต้องมีเวลาในการพิจารณาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องสิทธิ์ของประชาชนในการปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเอง จึงควรตั้งคณะกรรมการศึกษาจากทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติทางวิชาการที่ยังขัดแย้งกันเพื่อการปรับปรุงเงื่อนไขให้ได้ดีขึ้น ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2567 และให้ประชาชนปฏิบัติตามเงื่อนไขในวันที่ 1 มกราคม 2567 (ซึ่งยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเวลาเดิม) หรือใช้เวลาดังกล่าวในการเร่งการตราพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรควบคู่กันต่อไป
ทั้งนี้ได้แนบตัวอย่างร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ โดยอาศัยหลักการทั้ง 5 มาแล้วตามสิ่งที่สิ่งมาด้วย 1. (ร่วมร่างโดย อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ อ.คมสัน โพธิ์คง)จึงขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเสนอใหม่นี้และยังสามารถปรับแก้ตามความเหมาะสมได้ เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกอบการพิจารณาทบทวนแก้ไขการประกาศให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต่อไป