‘สุริยะ’ สั่งการ ‘กรมทางหลวง-สนข.’ ศึกษาโมเดลปรับลดค่าผ่านทางทางยกระดับอุตราภิมุข หลังข่าวขึ้นค่าผ่านทางพุ่งเฉียด 90-130 บ. เผยยกหู ‘สมบัติ พานิชชีวะ’ แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2567 จากกรณีที่ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ผู้รับสมัปทานาทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน ระยะทางรวม 21 กม. ประกาศค่าผ่านทางอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถประเภทที่ 1 (รถยนต์ 4 ล้อ) ช่วง 22 ธันวาคม 2567 - 21 ธันวาคม 2572 เริ่มต้น 90 บาท สูงสุด 130 บาท โดยปรับขึ้นจากเดิม 10 - 15 บาทนั้น
@ยกหู ‘สมบัติ’ ขอลดค่าผ่านทาง
ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยืนยัน นโยบายในการลดภาระค่าเดินทางกับประชาชน โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพิ่งมีข่าวดี คือสรุปการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ลดค่าผ่านทางด่วน เหลือ 50 บาทตลอดสาย
ดังนั้น จึงให้นโยบายกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะคู่สัญญา ดอนเมืองโทลล์เวย์ ไปเจรจาเพื่อปรับลดค่าผ่านทางลง และเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (21 มิ.ย.) ได้โทรศัพท์ถึง นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ DMT หารือถึงแนวทางที่จะช่วยลดราคาลงได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ที่จะได้รบความเดือดร้อน ซึ่งทางคุณสมบัติได้ตอบรับการเจรจา
ซึ่งแนวทางการปรับลดราคาดอนเมืองโทลล์เวย์นั้นจะ เป็นรูปแบบเดียวกับที่กทพ.เจรจาลดค่าทางด่วน คือ ให้เอกชนปรับลดราคาโดยจะมีการขยายสัญญาชดเชยให้เอกชน ซึ่งให้กรมทางหลวง เร่งศึกษาความเหมาะสมและเจรจากับเอกชน โดยดำเนินการภายใต้พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุป ชัดเจนภายใน 2-3 เดือนนี้ หรือเสร็จก่อนเดือนธ.ค. 2567
@แย้มตัวเลข 70-80 บ. เหมาะไหม โยน ‘ทล.’ ไปศึกษา
นายสุริยะกล่าวว่า แนวทางเจรจา เช่น เดือนธ.ค. 67 นี้ ไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางได้หรือไม่ โดยคงอัตราที่ 80 บาท (สำหรับรถ 4 ล้อ) ไปก่อน หรือ 2. ขอปรับลดค่าผ่าทางลง เป็น 70 บาท หรือลดลงกว่านี้อีกได้หรือไม่ ตรงนี้ กรมทางหลวงต้องไปศึกษาตัวเลข ซึ่งตนอยากให้ลดราคาลงเพราะที่จัดเก็บอยู่ค่อนข้างแพง และไม่กลัวว่าจะมีครหาเอื้อเอกชน เพราะหากไม่ทำอะไร ประชาชนจะรับภาระซึ่งรัฐบาลยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมากกว่า
“นโยบายของผม ไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าเดินทางให้ประชาชน ขณะเดียวกัน ตัวโครงการก็มีสัญญากำหนดไว้ ดังนั้นจะต้องหากจุดตรงกลาง ตอนนี้ กรมทางหลวงต้องไปศึกษาให้ชัดเจนว่า ควรจะลดราคาลงเท่าไรและควรขยายสัญญาออกไปกี่ปี ตรงนี้ต้องดูว่าลดราคาแล้วจะมีรถขึ้นไปใช้ดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มขึ้นแค่ไหน และจะมีผลต่อรายได้อย่างไร”นายสุริยะกล่าว
สำหรับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทาง 21 กิโลเมตร แบ่งเป็น ช่วงดินแดง - ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กม. และช่วง ดอนเมือง -อนุสรณ์สถาน ระยะทาง 5.6 กม. ปัจจุบันมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 69,283 คันต่อวัน