‘เลขาธิการ กกต.’ ขอไม่ตอบโต้ ‘ก้าวไกล’ หลังถูกกล่าวหาตีความแบบศรีธนญชัย ส่วนการเปรียบเทียบกับคดีของพรรคภูมิใจไทย ชี้คนละคดีกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณียุบพรรคก้าวไกลนั้น กกต. ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า เป็นพยานบุคคลหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า คำวินิจฉัยเพียงพอแล้ว กกต.จึงได้ส่งเอกสารเพิ่มบางอย่างที่เป็นข้อกฎหมาย
@ไม่ตอบโต้ก้าวไกล รู้ดีต้องทำอะไร
เมื่อถามว่า นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลออกมาให้ความเห็นว่า กกต. ตีความเป็นศรีธนญชัย นายแสวง กล่าวว่า ไม่ขอแสดงขอความเห็น รอฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อถามว่า การที่คู่กรณีออกมาแสดงความเห็นว่า กกต. ไม่มีอำนาจ หรือ ลุแก่อำนาจ จะทำให้ กกต. ขาดความเชื่อมั่นหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เรารู้ว่าต้องทำอะไร ทำผิด ทำเกิน ทำน้อยคงไม่ได้ ทุกเรื่องมีการกระทำมีข้อเท็จจริง คนที่ได้รับผลดีผลร้าย สิ่งนี้เกิดจากกฎหมายกำหนดไว้ก่อนว่า ลักษณะเช่นไรที่เป็นความผิด เมื่อมีข้อเท็จจริง กกต. ก็ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง ท่านไม่ได้รับผลร้าย หรือผลดีจากการตัดสินของ กกต. ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ
“เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร ส่วนความเชื่อมั่นผมว่าเราก็ทำตามกฎหมาย ประชาชนสงสัย เราก็ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ซึ่ฃเป็นหน้าที่ เราก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่กฎหมายให้เราทำ และขอยืนยัน ตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ไม่มีใบสั่ง หรือคำชี้นำจาก กกต. หรือจากข้างนอก“ นายแสวง กล่าว
@คดีภูมิใจไทยต่างกันกับ ก้าวไกล
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย เลขาธิการกกต.ระบุว่า เรื่องที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคเลย หรือเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองเลย แต่มีคนเอามาโยงว่า สามารถที่จะยุบพรรคได้หรือไม่ จึงทำให้มีคนคิดว่าการที่พรรคภูมิใจไทยก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสองกรณีนั้นแตกต่างกันมาก ส่วนฐานความผิดของพรรคภูมิใจไทย คือการอำพรางเรื่องหุ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง แค่มีการเอาไปโยงกันเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อมีคนร้องต่อกกต. มาก็ต้องมีการดำเนินการ ตรวจสอบเงินบริจาคว่า มีที่มาจากไหน เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้ตัดสินที่คนบริจาค แต่ตัดสินด้วยกฎหมาย และคนที่มีอำนาจชี้ ซึ่งต้องรอหน่วยงานที่มีอำนาจเป็นคนตัดสิน ซึ่งไม่ใช่กกต. หรือนายทะเบียน โดยขณะนี้มีการตรวจสอบและถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ จนกว่าจะได้ข้อยุติ
นายแสวง กล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณีการบริจาคของนายตู้ ห่าว ที่บริจาคให้กับพรรคพลังประชารัฐ มีคนบอกว่าเงินชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการพิสูจน์ว่าเงินชอบด้วยกฎหมายยังไง ก็ต้องรองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทรัพย์สิน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นต้น เป็นผู้ตัดสินมาก่อนจึงจะนำคำตัดสินมาใช้ได้