บก.ปคบ.ออกหมายเรียก นัด 17 มิ.ย. แจ้งข้อกล่าวหา 'เบนซ์ พรชิตา' พร้อมสามี 'มิค บรมวุฒิ' คดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเกินจริง ด้าน ผบก.เผยกำลังผล อย.ตรวจพบแบรนด์ ITCHA มีสารเคมีอันตรายในส่วนผสมหรือไม่ ด้านสภาผู้บริโภคจี้ อย.เก็บผลิตภัณฑ์มีไซบูทรามีม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 พล.ต.ต. วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) ได้กล่าวว่าขณะนี้ บก.ปคบ.ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากรณีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน บก.ปคบ. ขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักแบรนด์ ITCHA (อิชช่า) ของ คู่สามีภรรยา “เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา” และ “มิค บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ” ดาราชื่อดังว่า ว่าเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ก่อนที่ต่อมาทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะออกมายืนยันว่า เข้าข่ายความผิดจริง รวมถึงผลการสุ่มตรวจสุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักแบรนด์ดังกล่าวยัง พบสารอันตราย “ไซบูทรามีน” อยู่ในส่วนผสม
พล.ต.ต. วิทยากล่าวต่อว่าเรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันจากทาง อย. ที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวแล้วว่า เข้าข่ายความผิดโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวนทำการออกหมายเรียก “เบนซ์ พรชิตา” และ “มิค บรมวุฒิ” ให้มาเข้าพบในวันที่ 17 มิ.ย. เวลา 10.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็น การหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และ มาตรา 41 การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับ อนุญาต กรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะที่ในส่วนของกรณีที่ มีกระแสข่าวว่าทาง อย. สุ่มตรวจพบสารอันตราย “ไซบูทรามีน” อยู่ในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้น ตอนนี้ทางตำรวจยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันจากทาง อย. คาดว่ายังไม่ได้ข้อยุติ อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ทราบให้แน่ชัดก่อนว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่สุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจนั้น เป็นของแท้หรือไม่
ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน ทีมข่าวสภาผู้บริโภคออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า ได้สำรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ Lishou และ Baschi ที่เคยตรวจพบสารไซบูทรามีน ซึ่ง อย. ได้เคยแจ้งเตือนไปแล้วเมื่อปี 2557 ปี 2560 และปี 2561 รวมถึงผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Slimming Coffee ที่ อย. เคยแจ้งเตือนไปแล้วเมื่อปี 2564 แต่ปัจจุบันในแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไลน์ (E - Marketplace) หรือการค้นหาบนกูเกิล (Google) ยังพบการขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวในหลาย ๆ ร้าน การที่ยังพบผลิตภัณฑ์อันตรายข้างต้นอยู่ในปัจจุบันอาจแสดงให้เห็นว่า แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการเตือนภัยและเรียกคืนสินค้าในหลายครั้ง แต่เมื่อไม่มีกระบวนการการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ต้นตอหรือการตรวจสอบย้อนกลับ (Post - Marketing) อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผลิตภัณฑ์อันตรายเหล่านั้นยังคงมีการวางจำหน่ายทั่วไปและทำให้ผู้บริโภคหลายรายที่ยังไม่ทราบถึงการแจ้งเตือนภัยของ อย. ซื้อมารับประทาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเงินเปล่าได้
ในประเด็นเหล่านี้ สภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย ได้เรียกร้องให้ อย. หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รีบเร่งเข้ามาจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำ รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและเพียงพอแก่ผู้บริโภค ที่ผ่านมาได้ส่งข้อเสนอนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ถึง อย. ได้แก่ ข้อเสนอระบบการเฝ้าระวัง Post Marketing หรือการเพิ่มบทลงโทษที่มากขึ้นสำหรับการโฆษณาเกินจริง รวมไปถึงการควบคุมการโฆษณาสินค้าทางออนไลน์ แต่ทั้งนี้ การเฝ้าระวังสินค้า ขอเรียกร้องให้ทาง อย.มีการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสินค้าที่ได้รับอนุญาตและสินค้าที่มีการเตือนภัยออกไป
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวสภาผู้บริโภคได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแจ้งเตือนภัยของ อย. รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่มีการแจ้งเตือนภัยในบางครั้งมีลักษณะปกปิดยี่ห้อ หรือไม่แนบรูปภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ เพราะเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการเตือนภัยผลิตภัณฑ์อันตรายควรเปิดเผยชื่อและรูปภาพผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสำหรับใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้อง และขอเรียกร้องแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนว่าจัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ห้ามจำหน่ายหรือไม่ รวมถึงคำโฆษณาที่เกินจริง ก่อนอนุมัติให้มีการวางขายบนแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ ไซบูทรามีน จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์ทางจิตประสาท มักถูกนำไปใช้กับอาหารเสริมลดน้ำหนัก มีรายงานว่าเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ทำให้ใจสั่น มีผลกระทบกับหลอดเลือด และระบบหัวใจ จนถึงขั้นเสียชีวิต จึงถูกนำออกจากบัญชีทะเบียนตำรับยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ผู้ประกอบการที่ขาย หรือนำเข้ายาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(5) ผู้ใดผลิต จะต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท แล้วแต่กรณี
สำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนกรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในและส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท