‘สหภาพฯ อสมท.’ ทักท้วง ‘ก.คลัง’ หลัง ‘รมช.คลัง’ มอบนโยบาย 'สคร.' ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ‘ไม่จำเป็น’ ชี้อย่ามองข้าม ‘ที่ดิน’ มูลค่าหมื่นล้าน พร้อมเผยกว่า 2 ปีแล้ว ยังไม่มีการแต่งตั้ง ‘กรรมการผู้อำนวยการใหญ่’
....................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ฯ โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อมวลชน ว่า กระทรวงการคลังจะเททิ้งหุ้นที่ไม่มีความจำเป็น และในนั้นมีรายชื่อหุ้น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT รวมอยู่ด้วย นั้น สหภาพแรงงาน ขอตั้งข้อสังเกตและคำถามถึงผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.ปัจจุบันรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจ และใส่ใจกับปัญหาใน บมจ.อสมท. อย่างถูกต้อง หรือไม่ อาทิ การปล่อยให้ว่างเว้นไม่มีตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มามากกว่า 2 ปี และเมื่อสหภาพแรงงานฯแนะให้มีการตีความคุณสมบัติผู้สมัครบางราย เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นบรรทัดฐานให้กับกระบวนการสรรหาผู้บริหารใน รัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้มีการดำเนินการหรือไม่
2.แม้ อสมท. จะขาดทุน แต่ไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพของ อสมท. แต่เป็นภาพรวมในอุตสาหกรรมสื่อที่มีการบริหารงานผิดพลาดเชิงนโยบาย จนเกิดภาวะฟองสบู่สื่อทั้งอุตสาหกรรม และวิกฤติข้อมูลข่าวสาร ซึ่งที่ผ่านมา อสมท. ได้พิสูจน์และยืนหยัดในข้อจำกัดมากมาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
3.สินทรัพย์ของ อสมท. โดยเฉพาะที่ดินของ อสมท. มีมูลค่ามหาศาลนับหมื่นล้านบาท เหตุใดจึงถูกมองข้าม และเกิดข่าวว่าคลังจะเทขายหุ้น อสมท.
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานฯเห็นว่า ในวิกฤติสื่อที่ประชาชนได้รับผลกระทบด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลควรใส่ใจและสนใจส่งเสริมให้ อสมท. เป็นสื่อทางเลือกให้ประชาชน หรือแม้แต่ผลงานรัฐบาลที่ถูกประเมินว่า ประชาชนรับรู้รับทราบน้อยมาก สหภาพแรงงานฯมั่นใจว่า อสมท. มีศักยภาพที่จะนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ตามหลักการ และความเป็นมืออาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น
“ท้ายที่สุด สหภาพแรงงาน ยืนยัน อสมท. ยังมีศักยภาพ และพร้อม ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน พร้อมต่อยอดธุรกิจอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของรัฐ ประชาชน และผู้ถือหุ้น ซึ่งสหภาพแรงงานมีรายละเอียด และข้อเสนอพร้อมชี้แจงผู้เกี่ยวข้องในทุกเวที” แถลงการณ์ฯ สหภาพแรงงาน บมจ.อสมท. ลงวันที่ 29 พ.ค.2567 ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้มอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยให้ทบทวนหลักทรัพย์ของรัฐที่กระทรวงการคลังถือครอง ทั้งที่ควรถือครองไว้ เช่น หุ้นที่มีศักยภาพ หุ้นที่ภาครัฐมีนโยบายต้องถือครอง และที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือครอง และควรจำหน่ายออก เช่น หุ้นที่ได้รับจากการยึดทรัพย์ หรือนิติเหตุ รวมถึงเร่งจัดทำแนวทางการบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ และแผนการลงทุนที่สร้างผลกำไรให้แก่รัฐ