‘เจ้าท่า’ เตรียมเข็นโปรเจ็กต์สร้างท่าเรือสำราญ เกาะสมุย 1.2 หมื่นล้าน พบ ‘หมอปราเสริฐ-ทุนญี่ปุ่น’ สนใจ เตรียมดันเข้าครม.ภายใน ก.ย. 67 ก่อนเปิดประมูลก่อสร้าง คาดปี 75 เปิดให้บริการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 พฤาภาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้ กรมเจ้าท่า (จท.) ได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการพัฒนาโครงการมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณาตรวจสอบรายละเอียด
จากนั้นจะเสนอไปที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยจะเร่งรัดในการเสนอครม.เห็นชอบโครงการภายในกรอบ เดือน ก.ค.-ก.ย. 2567 จากนั้นจะเป็นการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โดยประกาศ RFP เปิดประมูล
ซึ่งตามขั้นตอน หลังได้ตัวผู้ร่วมลงทุนจะต้องรับผิดชอบในการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คู่ขนานไปด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยได้หารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องต้นแล้ว คาดว่าไม่น่าจมีปัญหาที่ทำให้ล่าช้าแต่อย่างใด ดังนั้น คาดว่าจะได้เริ่มต้นการก่อสร้างประมาณปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี โดยจะเร่งรัดการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2574 ไม่เกินปี 2575
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
@หมอปราเสริฐ สนลงทุน
ทั้งนี้ จากการเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้น มีนักลงทุน สนใจ อย่างน้อย 3 ราย เป็นเอกชนในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ซึ่งปัจจุบัน เป็นผู้ประกอบการสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส และเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานสมุย อีกรายเป็นกลุ่มนักธุรกิจในจังหวัfภูเก็ตและสมุย ส่วนต่างชาติ เป็นผู้ประกอบการสายเดินเรือ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเอกชนสนใจขอดูผลการศึกษา โดยได้ขอให้รอให้สรุปผลการศึกษาเรียบร้อยก่อน โดยทางกลุ่มนักธุรกิจผู้ประกอบการที่สมุยและภูเก็ต นั้นได้มีการลงพื้นที่จริงเบื้องต้นแล้ว
สำหรับ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสมุย บริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มากที่สุด
มีพื้นที่ รวม 47-38-6 ไร่ 1. พื้นที่บนชายฝั่ง มีขนาดพื้นที่รวม 15-1-23 ไร่ เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งได้เจรจา กรมป่าไม้ยินยอมให้ใช้พื้นที่แล้ว และเป็นที่ดินของเอกชนประมาณ 5 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นการเวนคืน หรือเจรจาให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนของ PPP ในการลงทุนโครงการก็ได้ หากเวนคืน ทางผู้รับ PPP จะต้องจ่ายชดเชยให้
2. พื้นที่นอกชายฝั่ง มีพื้นที่รวม 32-1-38 ไร่ โดยจะสร้างสะพานขึงลงไปในทะเล ความกว้าง 40 เมตร ยาว 445 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านอาหาร และอาคารบริการ (บริเวณหลังท่าเรือ) โดยการก่อสร้างสะพานขึงจะช่วยไม่ให้ปะการังที่อยู่บริเวณใต้สะพานได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และเรือยอชท์
โครงการมีขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง ส่วนท่าเรือสำราญ จะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชต์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รีสูงสุด 6 ลำ ซึ่งท่าเรือมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน
มีมูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ รวม 12,172 ล้านบาท โดยขั้นตอนและระยะเวลาการเสนอโครงการปี 2567 - 2570 ก่อสร้างปี 2570-2572 และให้บริการ 30 ปี ตั้งแต่ ปี 2572-2602) มี อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 15.57% ผลประโยชน์ โครงการฯ จะได้รับคือ สามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คนต่อปี รองรับเรือ Cruise 120 เที่ยวเรือต่อปี และนักท่องเที่ยวใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน รวมรายได้จากการคาดการณ์รายได้ของโครงการตลอดระยะเวลาโครงการ มีมูลค่า 8,504 ล้านบาท สัดส่วนของรายได้โครงการแบ่งเป็นรายได้จากท่าเทียบเรือ 91% ของโครงการและรายได้เชิงพาณิชย์ 9%
ทั้งนี้หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 โดยมีการติดตามโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ แหลมนิคม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยเห็นว่า โครงการจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวได้ ทำให้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดแผนการดำเนินโครงการให้เร็วขึ้น