‘สำนักพุทธฯ’ ตั้งโต๊ะแถลงกระแสโซเชียลเด็กเชื่อมจิต ชี้ชัดในพระไตรปิฎกไม่มีบัญญัติถึงการเชื่อมจิต ส่วนการอวดอ้างความเป็นอนาคามีต้องใช้สติปัญญาในการพิจารณา ขณะที่การอ้างเป็นบุตรพระพุทธเจ้าก็ไม่มีบัญญัติในพระไตรปิฎกเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสเด็กเชื่อมจิต ว่า การแถลงข่าวในวันนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะใส่ร้ายบุคคลใดที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่ทางครอบครัวของเด็กเชื่อมจิตมีการฟ้องร้องกับหน่วยงานต่างๆ ทาง พศ. หวั่นจะโดนฟ้องด้วยหรือไม่ นายพิชิต เผยว่า การห้ามคนฟ้องร้องนั้นห้ามไม่ได้ แต่ก็ไปพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม
@พศ.ไม่มีอำนาจยับยั้ง เพียงยกระดับมาตรการที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.พศ. เปิดเผยว่า ทางสำนักพุทธฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น เรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปได้มีการกราบนมัสการพระมหาเถระเพื่อขอคำแนะนำ โดยมีการแจ้งให้ใช้สติ ทำให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจะส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว และขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเป็นภัยหรือผลกระทบต่อความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาแล้ว แม้ พศ. จะไม่มีอำนาจในการห้ามหรือระงับยับยั้งบุคคลที่เผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก แต่ก็ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด และมีการยกระดับมาตรการขึ้นมาตามกระบวนการของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ รวมถึงได้มีองค์กรภาคเอกชนยื่นเรื่องไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของ พศ. ที่จะออกมาให้ความกระจ่างและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
โดยกรณีดังกล่าว พศ.ไม่มีอำนาจในการเรียกตัวเด็กหรือผู้ปกครองมาคุย แต่หากเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็จะมีการแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองให้ดำเนินการ โดยก่อนหน้านี้ในระดับพื้นที่ก็พยายามเจรจาเพื่อทำความเข้าใจ แต่ด้วยอำนาจอดีตที่ไม่สามารถห้ามหรือระงับยับยั้งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้ จึงต้องใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
@พระไตรปิฎก ไม่มีเรื่อง เชื่อมจิต
ขณะที่นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการ พศ.จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า พระพุทธศาสนามีความมั่นคงมาถึงทุกวันนี้เพราะมีคัมภีร์หลักคือ “พระไตรปิฎก” และจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า “การเชื่อมจิตไม่มีปรากฏแต่อย่างใด” อีกทั้งยังขัดต่อหลักธรรมคุณ 6 ประการ ที่พระพุทธเจ้ามีดำรัสไว้ให้เราได้ศึกษาปฏิบัติ นั่นหมายความว่าผู้อื่นไม่สามารถที่จะบอกให้เราเชื่อตามเขา แต่ให้ศึกษาและปฏิบัติเอง รู้เองเท่านั้น
ส่วนเรื่อง อนาคามี ได้แสงสีทองของพระพุทธเจ้ามาเชื่อมจิต และที่อ้างว่า ได้รับบัญชาจากพระพุทธเจ้าเพื่อฟื้นฟูศาสนานั้น เหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เราต้องนึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความจริง ความรู้ ความอิสระเสรีภาพ และเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ฉะนั้นเมื่อมีศรัทธาก็ต้องมีปัญญากำกับเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่คนอื่นบอก ไม่ว่าใครบอกสิ่งที่ต้องมีคือสติและปัญญาทุกครั้ง
ขณะที่การกล่าวอ้างว่าเชื่อมจิตได้ และเป็นบุตรของพระพุทธเจ้านั้น นายบุญเชิด เผยว่า เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เพราะสิ่งที่เราการันตีคือต้องยึดพระไตรปิฎกเป็นตัวอ้างอิงทุกบรรทัด นั่นเท่ากับว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่มีเรื่องแบบนี้ แต่ท่านในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าว ฉะนั้นในประเทศไทยจะยึดแค่ฝ่ายเถรวาทเท่านั้น