กรมราชทัณฑ์แถลงแสดงความเสียใจ 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิต ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษา เผยที่ผ่านมาเจ้าตัวปฏิเสธดื่มเกลือแร่-วิตามินบํารุงเลือด ด้าน'ทวี' ย้ำผลชันสูตรต้องจบภายใน 7 วัน พร้อมตั้ง คกก.ตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 กรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์กรณีการเสียชีวิตจของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม ระบุว่า ด้วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รายงานว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ในช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยทางทีมแพทย์ได้ทําการกู้ชีพ พร้อม นวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวออกรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์โรงพยาบาล ราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20-11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในเวลา 11.22 น. กรมราชทัณฑ์ จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า หลังจากที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัว นางสาวเนติพรฯ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แล้วนั้น นางสาวเนติพรฯ ได้รับประทานอาหารและน้ํา ปกติ ซึ่งแพทย์และพยาบาล ได้ทําการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ยังมีอาการขาอ่อนแรงและ บวมเล็กน้อย ผลเลือดมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกลือแร่ต่ำ โดยนางสาวเนติพรฯ ปฏิเสธการรับประทาน เกลือแร่และวิตามินบํารุงเลือด จนเกิดอาการดังกล่าวและเสียชีวิตในวันนี้
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ทางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีข้อห่วงใย ในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงเห็นควรให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทําการชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะต้องรอผลการชันสูตร นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคําสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว
ในวันเดียวกันนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ว่า ระหว่างที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรายงานจากกรมราชทัณฑ์ ว่า ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และได้ทราบว่า มีการวินิจฉัยว่าเสียชีวิต จึงให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และกรมราชทัณฑ์ ได้สื่อสารข้อมูล โดยหลักการการเสียชีวิตที่อยู่ระหว่างควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ถือว่าเป็นการควบคุมของเจ้าพนักงาน ถือว่าเป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ ทั้งนี้ หลักการคือจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งการชันสูตรพลิกศพจะ ประกอบด้วย หมอนิติเวช ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และพนักงานสอบสวน แต่เนื่องจากเรื่องนี้ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในการควบคุมของเจ้าพนักงาน จะต้องมีพนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองรวมถึงผู้เกี่ยวข้องมาร่วมชันสูตรพลิกศพ โดยการชันสูตรพลิกศพเรามีหลักการว่า จะต้องให้เสร็จภายใน 7 วัน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อยากกราบเรียนว่าเรื่องนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรี และรัฐบาลทุกคนมีความเสียใจในการเสียชีวิต นอกจากนี้อยากให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเป็นสหวิชาชีพและเป็นคนกลางได้เข้าทำหน้าที่ เชื่อว่า ทุกอย่างจะตรงไปตรงมา จะลดความรู้สึกที่ไม่สบายใจของแต่ละฝ่ายได้ และในส่วนที่เกี่ยวกับเรือนจำ ภายหลังจากที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งหลักฐานต่างๆ จะมีการบันทึกวิดีโอไว้ จึงเรียนว่าหากใครเกิดความสงสัยในประเด็นอะไร เราก็ยินดี ซึ่งจากการรายงานเบื้องต้น น.ส.เนติพร ได้อยู่ในโรงพยาบาลของราชทัณฑ์ รวมกับน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เพื่อให้รู้สึกว่าได้ดูแลกัน ซึ่งรายละเอียดขอให้กระบวนการดังกล่าวได้มีการตรวจสอบ
เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาตรวจสอบจะต้องมีใครเข้ามาร่วมบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า หลักการกฎหมาย 1. ต้องมีแพทย์ทางนิติเวช ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ 2. มีพนักงานอัยการ 3. พนักงานสอบสวน และ 4. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ โดยสามารถให้ญาติเข้าไปรับรู้ได้ ไม่มีตัวแทนของกรมราชทัณฑ์ เชื่อว่า กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่โปร่งใส ส่วนของกรมราชทัณฑ์นั้น เนื่องจากผู้เสียชีวิตได้อยู่โรงพยาบาลตลอด จึงมีหลักฐานการตรวจรักษา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทางกรมราชทัณฑ์จะสนับสนุน ควบคู่กับการชันสูตร
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ซึ่งตอนรายงานนั้นได้รายงานว่า น.ส.เนติพร ได้ไปโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ โดยนายกฯ กล่าวว่า ขอให้รักษาให้ดีที่สุดและช่วยเหลือให้ดีที่สุด และตอนหลังเมื่อทราบว่าเสียชีวิต นายกฯ บอกว่า เราต้องทำอย่างตรงไปตรงมา และต้องเรียนว่ากรณีดังกล่าวคดีมี 3 คดี คือ คดีละเมิดอำนาจศาลได้ลงโทษจบไปแล้ว ยังมีคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ถอนประกัน รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทางเรือนจำจะต้องทำตามคำสั่งศาล