ครม.รับทราบมติที่ประชุมบอร์ดอีอีซีเมื่อปลายปี 66 ว่าด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ‘EEC Visa-สิทธิพิเศษการลงทุน-ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ EECd’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เกี่ยวกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (EEC Visa) แนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ 4 ข้อดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้
1.1 การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa
1.2 แนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)
2. รับทราบการปรับแนวทางดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (โครงการ EECd) โดยนำออกจากการดำเนินการภายใต้ประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (ประกาศ กพอ. หลักเกณฑ์ฯ) ตามมติ กพอ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563
ความเป็นมาคือ โครงการ EECd นั้น จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ อาทิ (1) ยกระดับขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย (2) สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (3)ยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S- Curve Digital Industry) และ (4) พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น โดยโครงการ EECd นี้เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ EEC Project List ซึ่งต้องดำเนินการตามประกาศ กพอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ฯ มาโดยตลอด
3. ให้ สกพอ. พิจารณาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขต EEC อย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม รวมทั้งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้ ให้ สกพอ. รับความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของกระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงานและ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
4. ให้ สกพอ. BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลของนักลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน เพื่อให้มีการจัดทำและเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพรวมทั้งให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการการทำงานของศูนย์บริการนักลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันร่วมด้วย ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวให้คำนึงถึงหลักความประหยัด คุ้มค่า มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
สำหรับ EEC Visa นั้น ประเภท คุณสมบัติ และสิทธิประโยชน์ โดยสรุป มีรายละเอียดดังนี้
ผู้ที่สามารถได้รับวีซ่าดังกล่าวมีอยู่ 4 ประเภทด้วยกันได้แก่ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ (Specialist “S”) ผู้บริหาร (Exeutive “E”) ผู้ชำนาญนาญการ (Professional “P”) และคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ (Other “O”)
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับ EEC Visa เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีสัญญาจ้างกับผู้ประกอบกิจการหรือมีสัญญากับบุคคลอื่นที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติจากผู้ประกอบกิจการ ฯลฯ
สิทธิประโยชน์จากการได้รับ EEC Visa เช่น มีสิทธิในการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กพอ.สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้างสำหรับใช้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยประทับตราขาเข้าและอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรในครั้งแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี มีสิทธิในการนำคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามความจำเป็นและเหมาะสม และ มีสิทธิในการได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราคงที่ร้อยละ 17 ฯลฯ
สกพอ.แจ้งว่า การดำเนินการ EEC Visa และการให้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขต EEC
2.ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม
3.มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการที่มีศักยภาพสูง
4.ก่อให้เกิดรายได้แก่ภาครัฐ โดยคนต่างด้าวที่ยื่นขอ EEC Visa หรือยื่นขอเปลี่ยนประเภท Visa เป็น EEC Visa ต้องชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 10,000/บาท/คน/ปี และในการขอรับใบอนุญาตทำงาน EEC Work Permit ต้องชำระค่าบริการในอัตรา 20,000 บาท/คน/ครั้ง
5.มีคนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตามที่กำหนดและประสงค์จะใช้สิทธิ EEC Visa โดยคาดการณ์ 10 ปีแรก ของการดำเนินการประมาณ 149,388 คน
และการพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ EECd จะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในพื้นที่ EECd
2.เกิดการจ้างงานที่เกี่ยวข้องจากการลงทุนในพื้นที่ EECd และการจ้างงานสนับสนุนจากบุคคลภายนอกองค์กร
3.สามารถเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่ EECd
4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ยั่งยืนในระยะยาว