พรรคไทยสร้างไทย แถลงอัดรัฐบาล 10 เดือนไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม วนอยู่กับที่ ยก 10 เหตุผลที่ไม่มีอะไรสัมฤทธิ์ผล ทั้งการปรับครม.แค่หวังผลการเมือง, ดิจิทัลวอลเลตเป็นข้ออ้างลดแรงกดดัน, ผู้นำรัฐบาลไร้วุฒิภาวะ กดดันข้าราชการออกสื่อ เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 พรรคไทยสร้างไทย จัดแถลงข่าวถึงกรณีการทำงานครบรอบ 10 เดือนของรัฐบาล
ทีมโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ประกอบด้วย นายปริเยศ อังกูรกิตติ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย นายณัฐดนัย หลำแสงกุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และนายศรัณยู อึ๊งภากรณ์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า แกนนำรัฐบาลยืนยันว่า 10 เดือนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ แต่ดูเหมือนความพยายามตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา หลายนโยบาย หลายมาตรการยังคงวนอยู่กับที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ดังนั้นพรรคไทยสร้างไทยจึงขอหยิบยก 10 เหตุผลที่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ที่ยังไม่เป็นรูปธรรม ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ดังนี้
1. การบริหารราชการแผ่นดินมีแต่รูปแบบและแผนงาน ไร้ซึ่งความเป็นรูปธรรม เป้าหมายไม่ชัดเจน ขาดยุทธศาสตร์การทำงาน โดยเฉพาะเป้าหมายระยะกลาง และระยะยาว มีแต่เพียงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นตามสถานการณ์เท่านั้น
2. นโยบายที่หาเสียง และประกาศไว้ต่อรัฐสภา ไม่สามารถดำเนินการตามที่ได้สัญญา โดยเฉพาะนโยบายเรือธงอย่างเช่น ดิจิทัลวอลเลต ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการอยู่ในอำนาจและลดแรงกดดันจากประชาชนเท่านั้น แล้วโทษข้อจำกัดทางกฏหมาย , งบประมาณ , ฝ่ายค้าน ว่าเป็นอุปสรรคการทำงาน และขัดขวางการช่วยเหลือประชาชน
3. ใช้การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลทางการเมือง ของกลุ่มก๊วน มากกว่าประโยชน์ของประเทศและประชาชน ไม่สามารถเก็บรักษาบุคลากรที่พอมีศักยภาพการทำงานเอาไว้ได้ ใช้ความพึงพอใจในการจัดคณะรัฐมนตรี มากกว่าความสามารถและวิสัยทัศน์ในการทำงานตามแต่ละกระทรวง
4. มีความน่ากังวลต่องานด้านการต่างประเทศ หลังการลาออกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการ ด้วยเหตุผลทางการเมือง อาจนำมาสู่การทำงานที่ติดขัดของนโยบายต่างประเทศของไทย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศในสายตาต่างชาติ ในขณะที่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะสงครามทั้งใกล้และไกลชายแดนไทย ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา
5. บทบาทของผู้นำรัฐบาล นำมาซึ่งข้อขัดแย้งกับบุคลากรภาครัฐหลายครั้ง และหลายระดับ ทั้งการตำหนิข้าราชการออกสื่อ การกดดันข้าราชการรวมถึงบุคคลรอบข้างตำหนิผู้เห็นต่าง มองข้ามข้อเสนอของหน่วยงานสำคัญๆของประเทศหลายหน่วยงาน ทำให้การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาลำบากขึ้น เช่น เรื่องหมูเถื่อน , ไฟป่า , ดิจิทัลวอลเล็ท
6. ไม่สามารถลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้ตามที่แถลงนโยบายไว้ ซ้ำร้ายค่าใช้จ่ายต่างๆกับสูงขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำมัน รวมถึงอาหาร ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น ในขณะที่รายได้เกษตรกรยังย้ำอยู่กับที่ การส่งออก เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
7. ปัญหายาเสพติด ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ขาดความชัดเจน รัฐมนตรีซึ่งทำหน้าที่แก้ไขกฎกระทรวงก็ถูกปรับเปลี่ยน งานขาดความต่อเนื่องทั้งยังไม่เตรียมการวางแผนจัดหาพื้นที่บำบัดให้กับผู้ติดยาอย่างเหมาะสมเพียงพอ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะการครอบครองยาบ้า 5 เม็ดให้ถือว่าเป็นผู้เสพ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปก่อนหน้านี้
8. ไม่เตรียมการรับมือกับปัญหาภัยแล้ง และมีแนวโน้มว่าอาจประสบปัญหาการรับมือกับน้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้น ในสถานการณ์ที่งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปเตรียมการไว้รองรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ท อาจทำให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ
9. ไม่สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะได้ โดยเฉพาะ ปัญหาฝุ่นพิษ Pm2.5 และไม่มีมาตรการที่ชัดเจนรองรับปัญหาด้านการเผานอกเขตประเทศ จนทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องเผชิญมลพิษทางอากาศ แย่ที่สุดในโลกติดต่อกันต่อเนื่องนานหลายเดือน
10. ไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศได้เหมือนที่สัญญาไว้กับประชาชน การออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับล่าช้า และกฎหมายภาคประชาชน หรือกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายค้านหลายฉบับถูกดองยาว โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการศึกษา และไม่ส่งกลับมาสภาเพื่อให้พิจารณาทำงานต่อได้ ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน ถูกตั้งคณะกรรมการศึกษาดึงเวลาล่าช้า และไร้ความชัดเจน ทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลประกาศว่าจะเร่งแก้ไขเป็นเรื่องแรก