โฆษกกทม.เปิดตัว ‘ทางเท้าแบบใหม่’ สนองนโยบายเดินดีของ ‘ชัชชาติ’ เปิด 10 มาตรฐานใหม่ๆที่คนกรุงฯได้ อาทิ ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า / เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก / เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย เป็นต้น เตรียมนำร่องถนน 16 เส้นทางในปี 67 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 เมษายน 2567 นายเอกวรัญญู อัมมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพมหานครให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตร ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่
สำหรับการทำใหม่ทั้งเส้นทางมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ โดยในส่วนพื้นที่ชั้นในและเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่นจะปูโดยใช้กระเบื้องตามมาตรทางเท้าใหม่ ซึ่งฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 เซนติเมตร ที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้ ปัจจุบันทางเท้าของ กทม. ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้งเส้นทางด้วยมาตรฐานทางเท้าใหม่มี 16 เส้นทาง เช่น ถนนราชดำริ เพลินจิต อุดมสุข เป็นต้น และมีภายในปี 2567 นี้มีแผนจะดำเนินการตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ในลำดับต่อไปอีก 38 เส้นทาง และ 22 เส้นทางในปี 2568
ในส่วนพื้นที่ชานเมืองบางเส้นทางซึ่งการสัญจรไม่หนาแน่นจะใช้วิธีปูด้วยแอสฟัลต์ ขณะนี้ได้ดำเนินการเส้นทางนำร่องแล้วที่ถนนพุทธบูชา (เขตทุ่งครุ) และทั้งสองฝั่งของถนนคุ้มเกล้า (เขตลาดกระบัง) และกำลังขยายไปยังถนนทางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้วย
โดยการปรับปรุงแต่ละเส้นทางก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างออกไป เช่น ถนนเพลินจิตและราชดำริ มีการนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ ผ่านการออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิต ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง รวมทั้งจะพัฒนาในเส้นทางอื่น ๆ ให้กลายเป็น 1 ในสัญลักษณ์ของเมืองเหมือนกับญี่ปุ่นที่มีการดึงเอาฝาท่อกับสัญลักษณ์ประจำเมืองมาผสมผสานกัน
นอกจากนี้ ยังปรับรางระบายน้ำตลอดแนวถนน จากรูปแบบเดิมที่เป็นช่องระบายน้ำติดกับฟุตบาท มาเป็นรางระบายน้ำตลอดแนวถนน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้เร็วขึ้น
เอกวรัญญู อัมมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@5 แนวทางในการปรับปรุงทางเท้า
นายเอกวรัญญูยังกล่าวอีกว่า กทม.จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ 1.แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องใน Traffy Fondue 2.พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กม. 3.ภายในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี 4.ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่น ตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า 5.คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า อาทิ ประปา ไฟฟ้า การนำสายไฟลงดิน
@10 มาตรฐานใหม่ ทางเท้ากรุงเทพฯ
ด้านนายณัฐพล นาคพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 กล่าวถึงมาตรฐานใหม่ของทางเท้ากรุงเทพฯ 10 ข้อ คือ
1. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
2. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
3. เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
4. ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
5. ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
6. เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
7. เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
8. วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
9. วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
10. ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
โดยในส่วนของการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด กทม. โดยสำนักการโยธาและสำนักงานเขตที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุด และให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากจุดไหนสามารถทำเป็นทางเท้ามาตรฐานใหม่ได้จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue เมื่อพบเห็นจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่ออันตราย ทำให้เขตรับทราบปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง
สำหรับเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา หรือ เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การขีดสีตีเส้นช่วยแบ่งแนวให้คนเดินเท้า การนำพอรัสแอสฟัลต์ซึ่งน้ำซึมทะลุได้มาล้อมคอกต้นไม้เพื่อเพิ่มความกว้างของทางเท้าให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
@เทศกิจกวดขันหาบเร่ - มอไซต์ขับขึ้นทางเท้า
ทั้งนี้ สำหรับการดูแลทางเท้าใหม่ นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด เจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันหาบเร่แผงลอย และตรวจจับรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้า เพื่อรักษาทางเท้าให้มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด