‘สุริยะ’ เตรียมบุกแดนมังกร 6-15 พ.ค.นี้ ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมด้านรถไฟไทย-จีน สานต่อสร้างไฮสปีดกรุงเทพฯยาวถึงหนองคาย พร้อมนัด 20 บริษัทสัญชาติจีนคุยเรื่องพัฒนาแลนด์บริดจ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 เมษายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 6 - 15 พ.ค. 2567 นี้ มีกำหนดการเดินทางไปกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน แผนงานที่กรุงปักกิ่ง คือการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 เพื่อหารือติดตามความคืบหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร และโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้มีการพัฒนาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จะมีการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการท่าเรือและสายเดินเรือรายใหญ่ของจีน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ รวมถึง ดูงานด้านโลจิสกตจิกส์ และการพัฒนาท่าอากาศยาน และระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยต่างๆ ของประเทศจีน
โดยคาดว่า การโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์นั้น จะมีนักลงทุนจีนให้ความสนใจมากกว่า 20 บริษัท โดยมีทั้งกลุ่มผู้ประกอบการท่าเรือ กลุ่มสายเดินเรือ เช่น COSCO กลุ่มบริษัทด้านโลจิสติกส์ กลุ่มสถาบันการเงินและกลุ่มผู้รับเหมา เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้า ครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ในส่วนของงานโยธาจาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญา ภายในปี 2567 และ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท นั้น ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีมติอนุมัติโครงการแล้ว โดยจะเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง )กำหนดเปิดให้บริการปี 2574
โดยโครงการรถไฟไทย-จีนนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบราง พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการคมนาคมของประเทศไทยเชื่อมโยงสู่เมืองหลักเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า และการเดินทางของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ และรองรับการขยายตัวของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต