‘มนพร เจริญศรี’ เผย ขสมก.รายงานวานนี้ (23 เม.ย.67) ได้เลิกสัญญาซ่อมรถบอนลัค 486 คันกับ ช.ทวี หลังพบไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหลายประเด็น ด้าน ผอ.ขสมก.แจงยิบฝ่ายเอกชนไม่พร้อมทั้งช่างซ่อมและตรวจรับ แถมไปจ้างซ่อมช่วงอีก ทำขสมก.เสียหาย ก่อนเผยในที่ประชุมครม. ‘เศรษฐา’ สั่งเดินหารถ EV แล้ว จะเร่งประสานสภาพัฒน์พิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 เมษายน 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ร้องเรียนกรณีนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ดำเนินการซ่อมบำรุงรถยนต์โดยสารปรับอากาศ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ( NGV) จำนวน 486 คัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นั้น
@บอร์ดขสมก.สั่งเลิกสัญญาซ่อมรถบอนลัคกับ ช.ทวี
วานนี้ (23 เม.ย. 67) ทางผอ.ขสมก.ได้เข้ามาชี้แจงข้อมูลรายละเอียดกรณีดังกล่าวแล้วได้ความว่า กรณีที่ยังไม่สามารถซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ยี่ห้อบอนลัคได้ในขณะนี้เนื่องจาก อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เพิ่งมีมติมติอนุมัติให้ ขสมก.ยกเลิกสัญญา จ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน)
ในส่วนของนโยบาย ต้องรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากบอร์ดขสมก.ที่ได้ปฎิบัติตามระเบียบและสัญญา ทั้งนี้ ตนได้เร่งรัดในการหาผู้รับจ้างซ่อมบำรุงรายใหม่โดยเร็ว และบริษัทใหม่ที่เข้ามาต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเหมือนเดิมอีก นอกจากนี้เส้นทางที่รถ NGN ให้บริการ จะต้องบริหารจัดการโยกรถที่มีผู้โดยสารน้อยมาช่วย อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วน เช้า,เย็น
@นายกฯ สั่งเร่งหารถเมล์ใหม่
นางมนพรกล่าวว่า ในที่ประชุมครม.วานนี้ (23 เม.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำชับให้เร่งจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือรถเมล์ EV โดยเร็ว เพราะเป็นห่วงประชาชนที่ต้องใช้รถร้อน ซึ่งบอร์ดขสมก.เห็นชอบจัดหา ชุดแรกเร่งด่วน จำนวน 350 คัน ตอนนี้เสนอมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว จะเร่งเสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากนั้น จะเป็นเฟส 2 จำนวน 1,250 คันและเฟส 3 จำนวน 1,250 คัน โดยนายกฯ บอกว่าจะประสานสศช.เพื่อขอให้เร่งรัดพิจารณา
อยากให้ ทำความเข้าใจ กับสหภาพฯขสมก.เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและยกระดับให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีความสะอาด ตรงต่อเวลา สะดวกและปลอดภัย ซึ่งตนในฐานะรมต.ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยผอ.ขสมก.ต้องทำงานตามระเบียบ ข้อกำหนดและมติบอร์ด ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือหรือละเลยต่อหน้าที่ ได้ เพื่อนำไปสู่การให้บริการที่ดีตอบสนองประชาชนได้
มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับ ขสมก.
@รถแอร์ 486 วิ่งไม่ได้ เพราะช.ทวีไม่พร้อมทั้งช่างและตรวจมอบรถก่อน
ด้านนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า จากที่ประธานสหภาพฯขสมก.ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม ร้องเรียนให้ปลดหรือย้ายตน และตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ กรณีรถโดยสาร NGV จำนวน 486 คัน จอดเสียและการบริหารงานล้มเหลวทำให้ขสมก.เสียหายนั้น
ขอชี้แจงว่า กรณีรถเมล์ NGV 486 คัน เริ่มเป็นประเด็นจอดเสีย ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566 โดยพบว่า เอกชนไม่มีทีมช่างมาดำเนินการตรวจสอบรถ และยืนยันความพร้อมความปลอดภัยของรถได้ ซึ่งตามสัญญาระหว่างขสมก.กับ บริษัท ช ทวีฯ ข้อ 14.3 ระบุว่า เอกชนต้องส่งมอบรถ NGV ให้ขสมก.ทุกวัน โดยต้องเป็นรถที่มีสภาพความพร้อมใช้งาน มีความปลอดภัยในการให้บริการประชาชน หากไม่ยืนยันว่ารถมีความพร้อมขสมก.ก็ไม่สามารถนำรถออกไปวิ่ง เพราะจะเป็นการเอาประชาชนเป็นตัวประกัน
ดังนั้น การที่รถเมล์ NGV ยี่ห้อบอนลัค จำนวน 486 คันออกวิ่งให้บริการไม่ได้ เป็นเพราะเอกชนไม่มีช่างมาดำเนินการตรวจสอบและส่งมอบรถตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งขสมก.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในวันที่ 30 และ 31 ธ.ค. 2566 ได้ประชุมผู้บริหารทุกเขตการเดินรถ มอบหมายให้เร่งประสานเอกชนเพื่อให้ดำเนินการสัญญา และในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ได้เชิญบริษัท ช ทวี จำกัด และ บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด มาหารือและให้เร่งรัดแก้ไข โดยทางบริษัท ช ทวี แจ้งว่าขอเวลาแก้ไขภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อให้รถ NGV จำนวน 486 คัน ออกวิ่งให้ได้ เมื่อครบ 3 สัปดาห์หรือประมาณกลางเดือนก.พ. 2567 ปรากฎว่ารถ NGV ยังวิ่งได้เพียง 80 คันเท่านั้น ที่เหลือเอกชนไม่สามารถซ่อมบำรุงได้ ขสมก.จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังเอกชนเพื่อเร่งรัดแก้ปัญหาอีกครั้ง
@เลิกสัญญาเพราะ ขสมก.เสียหาย
สำหรับการบอกเลิกสัญญานั้น ที่ไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น เนื่องจากสัญญาข้อ 21.2 ระบุว่า กรณีคู่สัญญาทำให้ ขสมก.เสียหาย ขสมก.มีสิทธิ์บอกยกเลิกสัญญาได้ โดยตามขั้นตอน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะต้องตรวจสอบและรายงานผลมาตามลำดับและต้องเสนอบอร์ดขสมก.พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่จะมีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทด้วย ซึ่งในช่วงเดือนก.พ. 2567 ยังไม่มีการแต่งตั้งบอร์ดขสมก.เป็นช่วง สูญญากาศที่ทำให้ยังไม่สามารถบอกยกเลิกสัญญาได้
โดยเมื่อมีการแต่งตั้งบอร์ดขสมก. ได้ประชุมครั้งแรกวันที่ 5 มี.ค. 2567 โดยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการด้านกฎหมายและให้พิจารณากรณีการบอกเลิกสัญญา ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมาย ประชุมกัน 4 ครั้ง มีความเห็นให้ขสมก.ดำเนินการบอกเลิกสัญญาและนำเสนอบอร์ดขสมก.คู่ขนาน ขณะที่เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้สรุปรายงานความเห็นบอกเลิกสัญญา จึงได้นำเสนอบอร์ดขสมก.ในการประชุมวันที่ 19 เม.ย. 2567 โดยประธานอนุฯกฎหมาย ขสมก. ชี้แจงต่อบอร์ดว่า ขสมก.ได้ดำเนินการตามกฎหมายและข้อสัญญาครบถ้วนแล้ว ในการบอกเลิกสัญญา
บอร์ดจึงได้วินิจฉัยตามที่อนุฯด้านกฎหมายเสนอ ให้ขสมก.ยกเลิกสัญญา ตามข้อ 21.2 ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ ขสมก.จะทำหนังสือถึง บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) บอกเลิกสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศ และสงวนสิทธิ์ในการคิดค่าปรับ การริบหลักประกันสัญญา วงเงิน 400 ล้านบาทและเตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาต่อไป โดยจะสงวนสิทธิ์ ทั้งความเสียหายที่ผ่านมา และความเสียหายในอนาคต ซึ่งอยู่ระหว่างประเมิน เนื่องจากจะมีทั้งค่าเสียหายจากรายได้ค่าโดยสารที่รถไม่ได้ออกวิ่งให้บริการ และอาจจะถูกผู้เช่าโฆษณาบนรถ อาจจะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย รวมถึง หากจัดหาผู้ซ่อมบำรุงรายใหม่แล้วมีราคาเพิ่มขึ้น ก็จะเคลมส่วนนี้ด้วย
@ ช.ทวีชิงบอกเลิกก่อน ไม่มีผล เพราะเป็นสัญญาทางปกครอง
ส่วนกรณีบริษัท ช ทวี มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 บอกเลิกสัญญากับขสมก.ก่อนนั้น เป็นข้อโต้แย้งประเด็นพิพาทที่บอร์ดขสมก.ได้วินิจฉัย ซึ่งสัญญาจ้างเหมาซ่อมรถ NGV ดังกล่าว เป็นสัญญาทางปกครอง ที่จัดให้มีบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากบริการดังกล่าว ซึ่งหลักการของสัญญาทางปกครอง เอกชนไม่สามารถบอกเลิกสัญญากับรัฐได้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ของบริษัท ช ทวี จึงไม่มีผลแต่อย่างใด
ผอ.ขสมก.ย้ำว่า ประเด็นการยกเลิกสัญญา ขสมก.ตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายและเงื่อนไขสัญญาครบถ้วน ดังนั้นหลังจากส่งหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาแล้ว ขสมก. จะเร่งดำเนินการจัดหาบริษัทซ่อมบำรุงรายใหม่ เพื่อเข้ามาฟื้นฟูสภาพรถให้มีความพร้อมในการใช้งานโดยเร็ว โดยจะเข้าหลักเกณฑ์ ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน หากใช้วิธีประมูลทั่วไป จะเกิดความเสียหายกับรัฐและการให้บริการประชาชน ซึ่งได้ให้สำนักกฎหมาย ขสมก.ตรวจสอบระเบียบอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ ซึ่งคาดว่าจะได้คู่สัญญาซ่อบำรุงรายใหม่ อย่างช้าไม่เกินเดือนมิ.ย. 2567
สำหรับช่วงที่รอขั้นตอนการซ่อมฟื้นฟูรถNGV 486 คัน ขสมก.มีการบริหารจัดการรถโดยสารที่มีอยู่ประมาณ 2,300 คัน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยการโยกย้ายรถโดยสารในบางเส้นทางที่มีผู้โดยสารไม่หนาแน่น มาวิ่งในเส้นทางที่มีผู้โดยสารหนาแน่น โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นรถ NGV สีฟ้า ซึ่งมีการหารือร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งผอ. รองผอ. เขตเดินรถต่างๆ รวมถึงรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนผู้ใช้บริการ ในการโยกรถจากเส้นทางต่างๆมาช่วย ดำเนินการเมื่อ วันที่ 8 เม.ย. 2567 และประเมินผลทุกสัปดาห์
ซึ่ง ก่อนที่รถ NGV จอดเสีย มีสถิติจำนวนผู้โดยสารประมาณ 652,000 คน/วัน หลังรถ NGV จอดเสีย และขสมก.มีการโยกรถสายอื่นมาช่วย จำนวนผู้โดยสารรวมยังมีประมาณ 634,000 คน/วัน และประชาชนไม่มีการร้องเรียน โดยจะประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า เมื่อมีผู้ซ่อมบำรุงรายใหม่ สามารถนำรถNGV เข้ามาให้บริการจะทำให้การบริหารจัดการได้ดีขึ้น
@ช ทวีโบ้ย ‘วินสตาร์ฯ’ แค่ที่ปรึกษา ปัดซ่อมช่วง
ส่วนกรณีที่ บริษัท วินสตาร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด ทำหนังสือมาที่ขสมก. แจ้งว่า บริษัท ช ทวีฯ ไม่ได้จ่ายค่าจ้างซ่อมแซม และบำรุงรักษา รถ NGV นั้น ขสมก.ได้มีหนังสือสอบถามบริษัท ช ทวี ว่า บริษัท วินสตาร์ฯเป็นผู้รับจ้างซ่อมช่วง ของบริษัท ช ทวีหรือไม่ หากมีการจ้างเหมาช่วงถือว่า บริษัท ช ทวี ผิดสัญญา โดย บริษัท ช ทวี มีหนังสือตอบ ขสมก.ว่า บริษัท วินสตาร์ฯเป็นเพียงที่ปรึกษาให้คำแนะนำและจัดหาอะไหล่เท่านั้น ดังนั้น กรณีที่ สหภาพฯ กล่าวหาตนรู้เรื่อง ผู้รับเหมาช่วง แล้วทำไมไม่ยกเลิกสัญญาไม่ถูกต้อง เมื่อเอกชนยืนยันมา ก็ต้องให้ความเป็นธรรม
กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.