‘ตัวแทนนักลงทุนฯ’ ยื่นหนังสือต่อ ‘รมว.ยุติธรรม’ ขอให้คุ้มครองสิทธิฯ ‘นักลงทุนรายย่อย’ ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK หลัง 3 หน่วยงานรัฐ ชี้ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยความเสียหายฯ จากการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดฯ
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มนักลงทุน ซึ่งได้รับความเสียหายจากการลงทุนในหุ้นสามัญ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) จำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม โดยเรียกร้องให้ รมว.ยุติธรรม คุ้มครองสิทธินักลงทุน ซึ่งได้รับความเสียหายจากการลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ซึ่งมีการตกแต่งบัญชีหลอกลวงผู้ลงทุน และทุจริตฉ้อโกงประชาชนอย่างผิดกฎหมาย
นายประเสริฐ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้แทนของกลุ่มผู้ลงทุน กล่าวว่า ตนและครอบครัว ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นสามัญ STARK กว่า 2 หมื่นคน ได้รับเสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK เป็นเงินจำนวนมาก แต่หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้ผู้เสียหายในกรณี STARK ไปยื่นคำร้องขอความคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อขอรับการเยียวยาค่าเสียหาย จากทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่อายัดฯไว้เบื้องต้น 3,000 ล้านบาท
ปรากฎว่า กรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ได้มีหนังสือแจ้งมายังผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนหุ้นสามัญ STARK ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายโดยตรงในความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่าบริษัท STARK กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ลงทุนหุ้นสามัญ STARK จึงไม่สามารถระบุความเสียหายทางอาญาได้ ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมบังคับคดี ต่างก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกับ DSI
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK ไม่ได้เห็นเช่นนั้น โดยมีเหตุผล 3 ประการ ดังนี้
1.กรณี STARK ไม่ได้เป็นการลงทุนและความเสี่ยงตามปกติในตลาดหลักทรัพย์ และผู้บริหารบริษัทฯ ได้ยอมรับในภายหลังว่า มีการตกแต่งและปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด จากผลการดำเนินงานจริงขาดทุนมหาศาล แต่กลับแจ้งเป็นเท็จว่า มีผลกำไรมหาศาล ทำให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หลงเชื่อเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน
2.ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ได้ขายหุ้นที่เคยถืออยู่มากกว่า 95% ให้ไปกับนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ จากนั้นก็แจ้งผลการดำเนินงานอันเป็นเท็จ และผู้บริหารให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นต่อจากผู้ลงทุนสถาบัน และรายใหญ่ที่จำหน่ายกันมาเป็นทอดๆ ผลประโยชน์ย่อมไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK ที่เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น ผู้ลงทุนรายย่อยย่อมถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง
3.บริษัท STARK ได้จำหน่ายขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมเป็นเงิน 5,580 ล้านบาท โดยอ้างว่าจะนำไปซื้อกิจการในประเทศเยอรมนี เพื่อขยายการลงทุน แต่เมื่อนักลงทุนประเภทสถาบันได้หุ้นมาก็นำหุ้นดังกล่าว ออกขายในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยเป็นทอดๆ ดังนั้น ย่อมนับได้ว่าผู้ลงทุนรายย่อย คือ ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน
“การที่ส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง และได้ปฏิเสธที่จะชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อย ทั้งที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการตกแต่งปลอมแปลงบัญชีเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงประชาชนดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดทุนไทย จะเห็นได้ว่าหลังกรณีนี้ มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้หดตัวลงอย่างหนัก
นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศพากันหยุดหรือชะลอการลงทุน และตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในโลก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเสียหายไปมากกว่า 4 ล้านล้านบาท จึงขอวิงวอนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้โปรดอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนไทยโดยเร็ว”นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับตัวแทนของผู้เสียหาย ว่า จะประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับของกระทรวงและส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น DSI กรมบังคับคดี และ ปปง. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม เนื่องจากกรณีนี้ผู้เสียหายมีหลายส่วน ทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ สถาบันกองทุนที่ซื้อหุ้นล็อตใหญ่จากเจ้าของ STARK ผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุน LTF ที่ลงทุนในหุ้น STARK และรวมทั้งผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
“การที่จะอำนวยความยุติธรรมชดใช้ความเสียหายให้เพียงผู้เสียหายบางกรณี และไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับบางกรณีนั้น ไม่อาจกระทำได้ รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อฟื้นฟูกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ตลาดทุนไทย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
วันเดียวกัน ตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK ได้เดินทางเข้าพบผู้บริหาร DSI เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวน โดยขอให้อำนวยความยุติธรรมคืนให้กับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยต้องนับเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ์โดยจ่ายชดใช้สินไหมทดแทน
ทั้งนี้ ผู้แทน DSI กล่าวกับตัวแทนผู้เสียหายฯ ว่า จะประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอาจขอให้ทบทวนใส่ในหมายเหตุท้ายฟ้อง ให้รวมผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้เสียหายโดยตรงด้วย อย่างไรก็ตาม คงขึ้นกับการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยว่าจะพิจารณาเป็นประการใด