ครม.อนุมัติ ‘กรมทางหลวง’ ให้ใช้บริการมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 เริ่ม 00.01 น. วันที่ 11 เม.ย. - 24.00 น. วันที่ 17 เม.ย.นี้ รัฐสูญรายได้ 190 ล้านบาท ด้านสุริยะสั่ง ‘กทพ.’ เร่งหามาตรการลดค่าทางด่วนใน 2 เดือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 เมษายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ - ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ช่วงบางปะอิน - บางพลี และช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพุธที่ 17 เมษายน 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลดังกล่าว
ทั้งนี้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ค่าผ่านทาง จำนวน 190,493,826 บาท โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรช่วงการดำเนินมาตรการดังกล่าวประมาณ 5,110,485 คัน อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่า จำนวน 285,786,300 บาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง
@สั่ง ‘การทาง’ หามาตรการลดค่าทางด่วนใน 2 เดือน
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกทะวงคมนาคม กล่าวว่า สั่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณาหาหนทางลดค่าผ่านทางโครงการทางด่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทพ.เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนกลับมาเสนอภายใน 2 เดือน
เป็นการสั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยนบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่1/2567 มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมประชุม
นายสุริยะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโครงการทางด่วนต่างๆของกทพ.ที่เปิดใช้แล้วแต่ละโครงการ ที่แม้จะมีเส้นทางที่กำหนดให้ต่อเนื่องกัน แต่จะแยกเป็นคนละสัญญา ทำให้ค่าผ่านทางที่ประชาชนต้องจ่ายในแต่ละโครงการไม่มีส่วนลดให้ ซึ่งเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง
“อย่างบ้านผมต้องเสียค่าผ่านทางจากต้นสายจนจบถึง 160 บาท ซึ่งบางเส้นทางวิ่งผ่านสั้นๆแค่นิดเดียว แต่ต้องจ่ายค่าผ่านทางสูงเกินไป และในส่วนนี้เป็นการบ้านที่กทพ.ไปคิดหาทางลดค่าผ่านทาง ในเบื้องต้นภาครัฐไปเจรจากับบริษัทผู้รับสัมปทานเพื่อลดค่าผ่านทาง โดยภาครัฐจะขยายระยะเวลาของสัมปทานชดเชยให้ เพื่อที่ภาคเอกชนและภาครัฐไม่ต้องชดเชยเป็นตัวเงินเลย” นายสุริยะกล่าว
สำหรับโครงการทางด่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทพ.ที่เปิดให้บริการแล้วมีทั้งสิ้น 8 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) ระยะทาง 27.1 กม.
2.โครงการทางพิเศษศรีรัช (ระบบทางด่วนขั้นที่2) ระยะทาง38.4กม.
3.โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี(ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์,ทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก) ระยะทาง 28.2 กม.
4.โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนบางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กม.
5.โครงการทางพิเศษอุดรรัถยา(ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ระยะทาง 32 กม.
6.โครงการทางพิเศษสาย S1(ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ S1 หรือทางด่วนอาจณรงค์-บางนา) ระยะทาง 4.1 กม.
7.โครงการทางพิเศษกาญจนาภิเษก(ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์) ระยะทาง 34 กม.
และ 8.โครงการทางพิเศษประจิมรัถยา(ทางด่วนสายหมอชิต-วงแหวน) ระยะทาง 16.7 กม.
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม