‘สภาผู้บริโภค’ เผยผลงาน 2 ปี 6 เดือน ช่วยเหลือ ‘ผู้บริโภค’ สำเร็จเป็นมูลค่า 358 ล้านบาท พร้อมประสาน 'ค่ายมือถือ' แก้ปีญหาให้ผู้บริโภคภายใน 7 วัน เดินหน้าขับเคลื่อน 3 นโยบายเร่งด่วน
............................................
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค แถลงผลการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบ 2567 โดย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-25 มี.ค.2567 สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภค 6,979 ราย รวมมูลค่าชดเชยเยียวยา 37.16 ล้านบาท โดยปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ บัตรคอนเสิร์ต รองลงมาเป็นการชดเชยประกันภัยโควิด ปัญหาคุณภาพสัญญาณ และราคาอินเทอร์เน็ต
ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภค สภาฯเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นผลสำเร็จคิดเป็นมูลค่า 358 ล้านบาท เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินและสร้างการรู้เท่าทันกลลวงบริษัทสินเชื่อฯ และการเข้าไปทดสอบหมวกกันน็อก เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบว่าหมวกกันน็อกยี่ห้อหรือรุ่นใดที่ปลอดภัย และกระตุ้นให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบคุณภาพหมวกกันน็อก เป็นต้น
น.ส.บุญยืน กล่าวว่า ในด้านการผลักดันนโยบายที่นำไปสู่การแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคและสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ นั้น สภาผู้บริโภคได้ผลักดันแนวคิดราคาค่ารถไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ จนนำไปสู่การทดลองราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล การเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกและบริษัทรถยนต์ให้ความสำคัญและเร่งเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และการยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยที่ขายในท้องตลาด
รวมทั้งกรณีการส่งข้อเสนอไปยังสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อให้กำหนดมาตรฐานของระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ ให้ใช้ระบบป้องกันล้อล็อก หรือ ABS (Anti-Lock Brake system)
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังมีการดำเนินการด้านต่างๆ ที่ต่อเนื่อง เช่น กรณีการฟ้องร้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการควบรวม เพื่อลดการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม การผลักดันให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน เพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ผลักดันให้เกิดบำนาญประชาชน และซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมาย
“ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่การจัดตั้งสภาผู้บริโภค สภาฯสามารถเข้าถึงปัญหาของผู้บริโภคในระดับพื้นที่ผ่านองค์กรของผู้บริโภคกว่า 319 องค์กรที่ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด โดยการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และผลักดันปัญหาจนนำไปสู่ข้อเสนอนโยบาย รวมถึงการพัฒนากลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตลอดจนส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น” น.ส.บุญยืน กล่าว
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ในปีงบ 2567 สภาผู้บริโภคได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นจำนวนเงิน 322.52 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สภาผู้บริโภค สำหรับใช้ในการดำเนินงานเป็นจำนวน 149.1612 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย
“สภาผู้บริโภคยืนยันว่า รัฐบาลควรพิจารณาและดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ปี 2562 ด้วยการให้งบประมาณสนับสนุนสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 350 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยคนละ 5 บาท ต่อจำนวนผู้บริโภคไทย 70 ล้านคน ซึ่งจะช่วยทำให้สภาผู้บริโภคสามารถขยายฐานงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี ระบุว่า นับตั้งแต่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคเป็นเวลาเกือบ 3 ปี พบว่าปัญหาผู้บริโภคที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ เรื่องสินค้าและบริการทั่วไป รองลงมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน-การธนาคาร และอันดับ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะหลังการรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ระหว่างบริษัททรู และดีแทค และการรวมธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน ระหว่างบริษัท AIS กับบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ หรือ 3BB
“ปมร้อนการควบรวมค่ายมือถือระหว่างบริษัททรูและดีแทคที่เป็นอินเทอร์เน็ตมือถือ รวมถึงการควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่างบริษัทเอไอเอส กับ บริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ หรือ 3BB ซึ่งทั้ง 2 กรณีล้วนเป็นสาเหตุก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคในหลายรูปแบบเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีที่จะแจ้งให้ผู้บริโภค รับทราบทั่วกันว่า ทางเราได้ประสานกับค่ายมือถือที่รับปากว่า หากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เมื่อมาร้องเรียนที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค จะได้รับความช่วยเหลือภายใน 7 วัน ส่วนปัญหาสินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์นั้น เราขอรณรงค์เชิญชวนผู้บริโภคที่ซื้อของแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่ง ต้องขอเปิดดูก่อน แต่หากไม่ได้ ก็อย่ารับสินค้าให้ตีกลับไป” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่สภาผู้บริโภคเห็นว่าต้องขับเคลื่อนในเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วนมี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เรื่องภัยทุจริตทางการเงิน (Cyber Security) 2.การขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้ทัดเทียมสากลและเท่าทันยุคสมัย และ 3.การทำให้ผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้บริโภคและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม เช่น กรณีคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่สวนทางกับราคา หรือกรณีตั๋วเครื่องบินราคาแพง เป็นต้น
ขณะที่ นายลาภิศ ฤกษ์ดี หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เนื่องจากสภาผู้บริโภคมีหน้าที่และภารกิจในการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ ดังนั้น สมาชิกองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด และหน่วยงานเขตพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานคุ้มครอบผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆได้มากขึ้น
“แม้ปัจจุบันจะเข้าสู่ยุค AI หรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีหรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการมีองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ คอยให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา จึงทำให้ผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและรวดเร็วมากขึ้น” นายลาภิศ ระบุ