ดีเอสไอ ส่งคำร้องกรณีให้โอนคดีฟอกเงินเครือข่ายเว็บพนัน BNK Master ให้ ป.ป.ช. พิจารณา เหตุมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ร้อง-พนักงานสอบสวน ชี้หากไม่อยู่ในอำนาจ พร้อมดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารข่าว การส่งสำนวนการสอบสวนคดีเว็ปพนัน BNK ให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อ
โดยระบุว่า ด้วยปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ได้มีผู้ร้องมายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้พิจารณาโอนคดีอาญาของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน คดีอาญาที่ 391/2567 ฐานฟอกเงิน , สมคมกันฟอกเงิน. กรณีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ BNK Master มาดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
เนื่องจากเห็นว่ามีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิด เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 4 ประกอบบัญชีท้ายประกาศ ฯ ข้อ 7 ซึ่งกำหนดว่าคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60
และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีความผิดมูลฐานเป็นคดีพิเศษซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือคดีความผิดมูลฐานที่เป็นคดีอาญาอื่นที่มีมูลน่าเชื่อว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่มีมูลค่าตั้งแต่สามร้อยล้านบาทขึ้นไป โดยดีเอสไอได้รับเรื่องไว้สืบสวน. เป็นสำนวนสืบสวนที่ 37/2567 เพื่อพิจารณว่าเข้าข่ายที่จะมีคำสั่งไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ โดยสำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของกองคดีฟอกเงินทางอาญา
จากการสืบสวนมีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง รวมทั้งการมีหนังสือสอบถามไปยังพนักงานสอบสวน คดีอาญาที่391/2567 ของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ปรากฎข้อโต้แย้งกี่ยวกับความเชื่อมโยงคดีอาญาดังกล่าวกับคดีอาญากรณีเว็บพนันออนไลน์มินนี่ ที่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ และเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2561 มาตรา 28 (2) ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และมาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.
มีอำนาจไต่สวนในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และคดีที่มีความเกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เคยมีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการป.ป.ช. เกี่ยวกับแนวปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคสอง แล้ว โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0026/0089 ลงวันที่ 22 ต.ค. 2562 แจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ปใช. มีมติว่า คดีลักษณะใดเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณีไป ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอำนาจการสืบสวนเละสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ดังนั้น เมื่อดีเอสไอไม่มีข้อเท็จจริงในคดีอาญาหลักที่มีการกล่าวอ้างที่จะเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยเละเมื่อพิจารณาประกอบหนังสือสำนักงานป.ป.ช. ข้างต้น คณะพนักงานสืบสวน จึงมีมติเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 30 วรรคสอง
ทั้งนี้ หากภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว เห็นว่ามิใช่กรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรมสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พศ 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป