อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีกลุ่มพันธมิตรปิดล้อมสภาปี 2551 ชุมนุมขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี ‘สมัคร สุนทรเวช’ หลัง 2 ศาลยกฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความคืบหน้าคดีสำคัญที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจโดยเป็นคดีที่ อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก เป็นผลให้คดีถึงที่สุด
ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 2 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 3 นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 4 นายประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ 5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.590/2562
โดยคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.275/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.591/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับ
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 1
นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 2
นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 3
นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 4
นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่ 5
นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 6
นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 7
นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 8
นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 9
นายประยุทธ วีระกิตติ จำเลยที่ 10
นายสุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 11
นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 12
นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี จำเลยที่ 13
นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 14
นายพิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 15
และให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3881/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.592/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายวีระ สมความคิด จำเลย (รวมทั้งหมด 3 คดี ให้เป็นคดีเดียวกัน)
โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมด ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ
และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุมร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากจากเสรีภาพในร่างกาย
คดีทั้งหมดดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เว้นแต่กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าคดีมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้ลงชื่อรับรองในฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับรองฎีกาคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค. 2551 จำเลย ซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ลาออก โดยปิดล้อมสถานที่ราชการ รัฐสภา เพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรี สส., สว. และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา