‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดตัดสินคดีชาวบ้านฟ้อง 'กรมชลประทาน' เดินหน้าแผนก่อสร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ฯ แต่ไม่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบด้าน 28 มี.ค.นี้
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส.490/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.708/2559 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชาติหรือพื้นที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของอธิบดีกรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ศึกษาผลกระทบไม่รอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสังคมป่าที่ลุ่ม เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อธิบดีกรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ได้ดำเนินการจัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 67วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้วก็ตาม
แต่รายงาน EHIA ยังคงอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของ คชก. ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ารายงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบของ คชก. และ กก.วล. หรือไม่ นอกจากนี้ ยังคงมีขั้นตอนที่ต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์การอิสระฯ พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) พิจารณาอนุมัติต่อไปอีก กรณีจึงต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ในวันที่ 28 มี.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 1803/2566 ระหว่าง บริษัท วินด์ ขอนเเก่น 2 จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีมติในการประชุม ครั้งที่ 17/2566 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 โดยไม่ปรากฏชื่อผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล)
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี
และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด