สสส.-5 องค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องสื่อมวลชน-รัฐบาล-หน่วยงานที่มีอำนาจใช้อาวุธปืนตามกฎหมาย เคารพหลักนิติธรรมในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด หลังอดีตตำรวจเล่าประสบการณ์ใช้ปืน-แสดงความภูมิใจได้สังหารบุคคลต้องสงสัยทำผิดทางอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม, มูลส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ร่วมออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและวิตกกังวลต่อการเผยแพร่ของสื่อมวลชน และการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย กรณีที่อดีตตำรวจรายหนึ่งเล่าประสบการณ์ใช้อาวุธปืนขณะปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม ด้วยความเด็ดขาด รุนแรง โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องในลักษณะเร้าอารมณ์ และแสดงความภาคภูมิใจที่ขณะที่เป็นเจ้าหน้าตำรวจได้ใช้อาวุธปืนสังหารบุคคลที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญา
โดยมีข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชน รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืนตามกฎหมาย 6 ประการ ดังนี้
1. สื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณไม่ควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้สังคมเข้าใจว่าการใช้อาวุธปืนโดยเจ้าเหน้าที่รัฐสังหารผู้ถูกหาว่ากระทำผิดเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ สื่อมวลชนไม่สมควรนำมาตีแผ่ตอกย้ำค่านิยมความรุนแรง แต่ควรนำเสนอให้สังคมเข้าใจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้กระทำผิดตามครรลองของกฎหมาย โดยนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่สนับสนุนการประหัตประหารหรือใช้ “ศาลเตี้ย” ต่อผู้บุคคลใดๆ
2. เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน พึงตระหนักเสมอว่า ทุกชีวิตล้วนมีสิทธิในชีวิต ร่างกาย มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้อาวุธปืนจนอาจนำสู่การวิสามัญฆาตรกรรมก็เพื่อป้องกันตนหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตรายที่ใกล้ถึง เจ้าหน้าที่ที่ใช้อาวุธปืน ไม่มีอำนาจในการ “สังหารบุคคลใดๆ โดยใช้วิธีการนอกระบบกฎหมาย (Extra-judicial Killing)” ที่ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”
3. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนต้องคัดเลือกและกลั่นกรองจากผู้มีคุณธรรมและมโนธรรมสำนึก มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฝึกอบรมและทดสอบการใช้กำลังและใช้อาวุธอย่างมีมาตรฐาน มีการฝึกอบรมเป็นพิเศษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องจริยธรรม สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมอาชญากรรม
4. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องพัฒนาเครื่องมือและฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ให้มีทักษะในการใช้ทางเลือกอื่นแทนการใช้กำลังบังคับและการใช้อาวุธปืน ซึ่งรวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งด้วยเทคนิคการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยและสันติวิธีด้วย
5. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องมีมาตรการในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและใช้อาวุธ จะต้องไม่มีนโยบายส่งเสริมหรือยุยงให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการนอกระบบกฎหมาย ทั้งต้องลงโทษเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่ละเลยอย่างจริงจัง
6. ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์ม ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเนื้อหาความรุนแรง นอกจากจะสร้างความเกลียดชังแล้ว ยังบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้มีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้
ขอเรียกร้องให้ส่งเสริมและเผยแพร่การเคารพหลักนิติธรรมในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด
ตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์นำไปเผยแพร่ซ้ำ กรณีอดีตนายตำรวจมือปราบนอกราชการคนหนึ่ง เล่าประสบการณ์ใช้อาวุธปืนขณะปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม ด้วยความเด็ดขาด รุนแรง โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องในลักษณะเร้าอารมณ์ และแสดงความภาคภูมิใจที่ขณะที่เป็นเจ้าหน้าตำรวจได้ใช้อาวุธปืนสังหารบุคคลที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญา ผู้มีอิทธิพลและมือปืน โดย ใช้คำว่า “ล่าได้” “ฆ่าได้” เป็นต้น โดยอ้างว่าได้รับคำสั่งและแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นหัวหน้าชุดในการปฏิบัติการ “ฟาด” บุคคลที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคมได้ในท้องที่ 24 จังหวัดภาคกลาง แทนการจับกุมเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รายละเอียดปรากฏในสื่อมวลชนโดยทั่วไปนั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ ขอแสดงความห่วงใยและวิตกกังวลต่อการเผยแพร่ของสื่อมวลชน และการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ในกรณีดังกล่าวด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยได้รับรองไว้โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายอาญา โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐคนใดก็ตาม ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะละเมิดสิทธิดังกล่าวโดยพละการหรือ “ศาลเตี้ย” โดยการสังหาร เข่นฆ่า และทำร้ายบุคคลใดๆ รวมทั้งผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาว่าเป็นอาชญากร เว้นแต่จะโดยคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ที่ได้พิจารณาคดีโดยเป็นธรรม และเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น
2. หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย มีความมุ่งหมายในการคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิในชีวิตเสรีภาพในความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล และเพื่อให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติ การฝึกอบรมและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หลักการนี้มีสาระสำคัญโดยย่อระบุว่า ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้การใช้อาวุธปืนต้องจำกัดเพียงให้พอเหมาะแก่ความจำเป็นตามความร้ายแรงของสถานการณ์ และในกรณีพิเศษเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายจะใช้อาวุธปืนได้เพื่อป้องกันอันตรายใกล้ถึงตนเองหรือป้องกันผู้อื่นให้พ้นภยันตรายที่ใกล้ถึง หรือป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือเพื่อทำการจับกุมบุคคลที่กำลังจะทำอันตรายแก่ชีวิต ต่อสู้ขัดขวางต่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้น การใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่จึงมิได้หมายถึงการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงผู้กระทำผิด “เสียให้ตาย” และมิได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ “ยิงทิ้ง” ผู้ที่ถูกหาว่ากระทำผิดร้ายแรงได้ตามอำเภอใจแต่ประการใด
3. การสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่าการใช้อาวุธปืนในการ “ไล่ล่าเอาชีวิต” หรือ การแสดงความเห็นในเชิงคดีหมดอายุความแล้ว แต่ยังไม่หมดอายุแค้น หรือ ในชีวิตราชการได้ดำเนินการฆ่าผู้ก่ออาชญากรรมมานับเป็นสิบๆ คน รวมถึงการใช้ถ้อยคำเรียกผู้ถูกหาว่ากระทำผิดว่า “ไอ้” ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานดังกล่าว และเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ตายและครอบครัว ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สังหารโดยปราศจากคำพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด เมื่อมีการพูดในสื่อสาธารณะอาจทำให้สังคมเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการใช้อาวุธจะปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการบ่มเพาะให้สังคมเคยชินต่อการใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด อาจทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเกิดความเข้าใจผิด ไขว้เขว นิยมความรุนแรง อันเป็นการขัดต่อหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สสส. และองค์กรสิทธิมนุษยชนท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชน รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืนตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณไม่ควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้สังคมเข้าใจว่าการใช้อาวุธปืนโดยเจ้าเหน้าที่รัฐสังหารผู้ถูกหาว่ากระทำผิดเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ สื่อมวลชนไม่สมควรนำมาตีแผ่ตอกย้ำค่านิยมความรุนแรง แต่ควรนำเสนอให้สังคมเข้าใจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้กระทำผิดตามครรลองของกฎหมาย โดยนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่สนับสนุนการประหัตประหารหรือใช้ “ศาลเตี้ย” ต่อผู้บุคคลใดๆ
2. เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจใช้กำลังบังคับและใช้อาวุธปืน พึงตระหนักเสมอว่า ทุกชีวิตล้วนมีสิทธิในชีวิต ร่างกาย มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การใช้อาวุธปืนจนอาจนำสู่การวิสามัญฆาตรกรรมก็เพื่อป้องกันตนหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตรายที่ใกล้ถึง เจ้าหน้าที่ที่ใช้อาวุธปืน ไม่มีอำนาจ ในการ “สังหารบุคคลใดๆ โดยใช้วิธีการนอกระบบกฎหมาย (Extra-judicial Killing)” ที่ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”
3. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องจัดให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนต้องคัดเลือกและกลั่นกรองจากผู้มีคุณธรรมและมโนธรรมสำนึก มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการฝึกอบรมและทดสอบการใช้กำลังและใช้อาวุธอย่างมีมาตรฐาน มีการฝึกอบรมเป็นพิเศษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องจริยธรรม สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมอาชญากรรม
4. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องพัฒนาเครื่องมือและฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ให้มีทักษะในการใช้ทางเลือกอื่นแทนการใช้กำลังบังคับและการใช้อาวุธปืน ซึ่งรวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งด้วยเทคนิคการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยและสันติวิธีด้วย
5. รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต้องมีมาตรการในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและใช้อาวุธ จะต้องไม่มีนโยบายส่งเสริมหรือยุยงให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการนอกระบบกฎหมาย ทั้งต้องลงโทษเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่ละเลยอย่างจริงจัง
6. ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์ม ตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเนื้อหาความรุนแรง นอกจากจะสร้างความเกลียดชังแล้ว ยังบ่มเพาะการใช้ความรุนแรงในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและนิติธรรม
แถลง ณ วันที่ 4 มีนาคม 2567
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
- มูลนิธิมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
- มูลส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน