‘พิธา’ ปราศรัยอุดรฯ ท้าฝ่ายมีอำนาจอยากยุติชีวิตทางการเมืองก็ทำเลย มั่นใจก้าวไกลชนะใจคนอุดรฯ ไม่หวั่นพรรคเป็รตำบลกระสุนตก ก่อนตอบปมฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลแผ่วลงไม่จริง ส่วนกรณี ‘ปดิพัทธ์’ บุกทำเนียบฯ เหมาะแล้ว เพราะรัฐบาลดองกฎหมายและไปถามความคืบหน้าก็ไม่ตอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายอภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังปัญหาด้านที่ดินทำกินจากพี่น้องประชาชนชาวหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
นายพิธากล่าวบนเวทีปราศรัยตอนหนึ่งว่า ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งอบจ. มีความสำคัญเหมือนเป็นจิ๊กซอว์สุดท้าย ตามวิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกลที่ต้องการเห็นอุดรธานีเท่าเทียมกัน เท่าทันโลก ทั้งนี้ เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ประเทศไทยเป็นที่ดินของราชการเยอะ มี 320 ล้านไร่ 60% เป็นของรัฐบาล 40% เป็นที่ของประชาชน ซึ่งมีแค่กำมือเดียวเท่านั้น รัฐบาลให้สิทธิในการเช่าแค่ 3 ปี อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ วิธีคิดของตน ไม่ใช่บอกว่าให้ประชาชน เป็นที่อยู่อาศัย คอยจ่ายค่าเช่าให้กับรัฐบาล ไม่ใช่แบบนั้น แต่ต้องเป็นสิทธิในการบริหารอนาคตของตัวเอง สิทธิในการมอบที่ดินให้กับลูกหลาน การมีกรรมสิทธิ์ในการจะเอาที่ดินเข้าธนาคาร นำเงินออกมาแก้ปัญหา ช่วยทำให้อุดรธานีน่าอยู่
นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า สุดท้ายมีพี่น้องถามว่าก้าวไกลจะเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เป็นกระสุนตกเลยหรือไม่ ขอบอกว่าวิกฤติของพรรคไม่ยิ่งใหญ่เท่าวิกฤติประชาชน และไม่ได้พูดเล่น ไม่ได้พูดเอาคะแนนเสียงอย่างเดียว ศึกษามาแล้วว่าครั้งที่แล้วคนอุดรธานีไปเลือกตั้งน้อยมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ เลยไม่ได้เลือก ซึ่งเป็นปัญหามาจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาความแห้งแล้ง ดังนั้น วิกฤติของประชาชนยิ่งใหญ่กว่าวิธีของพรรคก้าวไกล
“ถ้าเขาอยากจะยุติชีวิตทางการเมืองของผม ทำเลย ผมไม่มีอะไรค้างคาใจอีกแล้ว เราคือพรรคที่เอาชนะเพราะการทำงานเพื่อประชาชน แล้วผมก็วางแผนในการบริหารองค์กรไว้เยอะแยะ ยังมีคนเก่งอีก 20 คน ข้างหลัง ยังมีคนเก่งอีกรออยู่ข้างหลัง” นายพิธากล่าว
@ปัดฝ่ายค้านแผ่วตรวจสอบรัฐบาล
ต่อมา ผู้สื่อข่าวถามถึงคำวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่แผ่วลงนั้น นายพิธาตอบว่า ไม่แผ่วแต่มองเป็นยุทธศาสตร์ การที่ทำอะไรเร็วๆ ลวกๆ จะเป็นเรื่องดีเสมอไป ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่าวุฒิสภา (สว.) อภิปรายแล้ว จะต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูล และฐานความสำคัญของประชาชน ที่ต้องอธิบายให้ประชาชนฟังว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไป 1 ปีมีแค่อย่างละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญก็กลับมาใช้สิทธิ์นั้นไม่ได้แล้ว พร้อมย้ำ 1 ปีต้องมียุทธศาสตร์
สำหรับแนวโน้มที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายพิธา กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ทั้งการอภิปรายทั่วไปและอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบตรงๆ เขาก็รู้
ขณะเดียวกัน นายพิธา ยังประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลา 6 เดือน ว่า ในใจอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาประเทศให้มากขึ้น ข้อดีที่เห็นอยู่คือ เรื่องการต่างประเทศที่ช่วยวิกฤตสงครามในอิสราเอล แต่เข้าใจว่า ขณะนี้ยังมีคนอุดรธานีติดอยู่ที่นั่น ประมาณ 7-8 คน จึงขอฝากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามเรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวอุดรธานีด้วย
ส่วนเรื่องภายในประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีสิ่งที่จะต้องแก้ และแตะโครงสร้างให้มากกว่านี้ รวมถึงร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ (1 มี.ค. 67) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามเรื่องร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะฝ่ายค้าน แต่มีของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลอยากแก้ไขปัญหาอะไร แต่กฎหมายไม่เอื้อ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะติดโครงสร้างกฎหมายอยู่ จึงเชื่อว่า นายปดิพัทธ์ ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและช่วยรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น พร้อมเห็นว่า เป็นการปฎิบัติตามมารยาททุกอย่าง ประสานงานไป 2 ครั้ง โดยส่งหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาเป็นรูปธรรม จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เป็นเหตุให้เข้าไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการประสานงานให้กับประชาชน ถือเป็นประโยชน์ให้กับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ
ส่วนที่รัฐบาลออกมาติงว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่บุกไปทำเนียบรัฐบาล นายพิธา ถามกลับว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน? เพราะเท่าที่ติดตามข่าว ผู้สื่อข่าวก็ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าประสานก็มีคนต้อนรับแล้ว คำตอบที่ได้ยินต่อมาคือประสานไป 2 ครั้ง โดยย้ำว่า ได้ทำหนังสือไปที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 และ 21 กุมภาพันธ์ถูกหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่าที่ไม่เหมาะสมคืออะไร เพราะหากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง กฎหมายบางฉบับยื่นไปให้เซ็น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวาระทางนิติบัญญัติ ถ้ารวดเร็ว ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่สภาอย่างเดียว แต่อยู่ที่รัฐบาลและพี่น้องข้าราชการ ที่กฎหมายเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ก็ไม่ทราบว่าไม่เหมาะสมตรงไหน ขอคำอธิบายจากรัฐบาลด้วย