รองประธาน ‘ปดิพัทธ์’ เตรียมบุกทำเนียบรัฐบาลพรุ่งนี้ (1 มี.ค. 67) หลังรัฐบาลดองร่างกฎหมายการเงินกว่า 31 ฉบับ อัดเคยส่งหนังสือถามแต่ไม่มีคำตอบ เตรียมถามตรงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า สถานะของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ยังรอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามรับรอง มีทั้งหมด 31 ฉบับ
ฉบับที่รอความเห็นนานที่สุดคือ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จำนวน 6 เดือน 11 วัน ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 6 เดือน 4 วัน และยังมีร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน พ.ศ. .... ที่เสนอโดยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย จำนวน 5 เดือน 25 วัน และร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สส.พรรคภูมิไทย จำนวน 4 เดือน 17 วัน
“ผมทำได้เพียงนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาแถลงต่อสาธารณะ เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ากฎหมายที่เสนอโดย สส.ทำได้เพียงเสนอกฎหมายที่ไม่ได้เป็นร่างการเงิน ซึ่งการตีความว่าเป็นทางการเงินครอบคลุมได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกองทุน การเพิ่มภาระงานบางอย่าง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะทำให้ตนเองอยากจะมีความเห็นต่อสาธารณะว่าเรามีความคิดว่ารัฐบาลต้องจริงใจกว่านี้ในการส่งร่างกฎหมายทางการเงินเข้ามาถกเถียงที่สภาฯ” นายปดิพัทธ์ระบุ
รองประธานสภาคนที่ 1 กล่าวต่อว่า ร่างการเงินเหล่านี้กระทบฝ่ายบริหาร ตนเองส่งเรื่องไปทวงถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหลายรอบแล้วว่าติดที่หน่วยงานไหน ปรากฏว่าไม่เคยได้รับคำตอบ แล้วถ้าหน่วยงานหนึ่งไม่ส่งคำตอบสักหน่วยงาน ร่างของ สส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะไม่มีวันได้บรรจุเข้าสภา
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เราบอกชัดเจนว่าสภานิติบัญญัติจะต้องไม่อยู่ใต้อาณัติของฝ่ายรัฐบาล แต่การพิจารณากฎหมาย ซึ่งเป็นงานที่พวกเราทำได้ กลับถูกเทคนิคหรือไม่ ในการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ส่งความเห็นให้นายกรัฐมนตรี หรือทำเป็นไม่ส่งความเห็น เพื่อทำให้ร่างที่จะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหน่วยงานของตนเองเป็นหมันไป” นายปดิพัทธ์กล่าวอีกตอน
โดยในวันพรุ่งนี้ (1 มี.ค. 67) ตนเองและสำนักรองประธานสภาคนที่ 1 จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพูดคุยปัญหานี้โดยตรงกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะเข้าพบหลายครั้ง เนื่องจากต้องการพบผู้ที่รับผิดชอบด้านกฎหมายของรัฐบาล ไม่ได้ไปพบเพื่อที่จะกระทบกระทั่ง แต่พบเพื่อประสานความร่วมมือ หากฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังทำงานแบบนี้ เราจะเห็นว่ากฎหมายจำนวนมากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเสนอไม่สามารถเข้าสภาฯ ได้