‘เศรษฐา’ เรียก ‘ธรรมนัส-ทส.’ ขึ้นตึกไทยฯ เคลียร์ใจกรณีออกโฉนดทำกินทับที่อุทยานเขาใหญ่ ‘เกษตร’ ถอย ยกเลิกที่ทำกินไปก่อน เปิดทางกรมแผนที่ทหารเข้าไปทำเขตแนวพื้นที่ของรัฐคาดใช้เวลา 3 สัปดาห์ ยันพื้นที่ที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่ติดประชิดกัน จะไม่จัดให้พี่น้องเกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลา 13:10 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชิญ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมาพูดคุยหลังมีปัญหาเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีการปักหมุดทับซ้อนกับพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เกิดปัญหาระหว่างสองกระทรวงหลัก คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ต่อมา นายกรัฐมนตรีโพสต์ภาพและข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) @Thavisin เมื่อเวลา 14.34 น.ว่า จากกรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาใหญ่ ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะกระทบต่อพี่น้องประชาชนหลายภาคส่วน ผมจึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยาน เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเจ้ากรมแผนที่ทหาร มาพูดคุยเพื่อมาหาทางออกร่วมกัน โดยในเบื้องต้นหน่วยงานทหารจะเข้าไปสำรวจแผนที่ที่เป็นมาตรฐานของรัฐแผนที่เดียว เพื่อให้ยุติข้อพิพาทก่อน ซึ่งจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนกรมอุทยาน และเลขาธิการ ส.ป.ก. จะทำบันทึกข้อตกลง ให้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินของรัฐทุกประเภทในการเข้าทำการสำรวจพื้นที่พิพาทร่วมกัน
ด้านกระทรวงเกษตรฯ จะประกาศยกเลิกไม่ให้มีการแบ่งที่ดินในแนวเขตกันชน (พื้นที่คาบเกี่ยว) ระหว่างกรมอุทยาน และส.ป.ก. เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวครับ
@กรมแผนที่ทหารขอ 3 สัปดาห์สรุปพืื้นที่พิพาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม เวลา 14.00 น. ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยนายวิณะโรจน์ นายจตุพร นายอรรถพล และ พล.ท.ชาคร ร่วมกันแถลงภายหลังหารือ โดย ร.อ.ธรรมนัส แถลงว่า นายกรัฐมนตรีประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.หมูสี ซึ่งตนในฐานะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแล ส.ป.ก. และปลัดกระทรวง ทส. ดูแลกรมอุทยานฯ เจ้ากรมแผนที่ทหาร รวมถึงเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้หารือกันตามที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน
ทั้งนี้ สรุปตามที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตนนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแถลงให้สาธารณชนรับทราบ โดยจากข้อมูลที่ได้คุยกันในเบื้องต้น เรื่องแรก ตนยังยืนยันว่าพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท ตอนนี้เราจะไม่เถียงกันแล้วว่าเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ซึ่งนายกฯกำชับให้กรมแผนที่ทหารเดินหน้าในการทำเขตแนวพื้นที่ของรัฐ หรือ วันแมป เดินหน้าต่อไป ทางเจ้ากรมแผนที่ทหารได้รับปากนายกฯว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการพิสูจน์พื้นที่ตรงนี้
ในส่วนของ ทส. และกษ. ต่อไปนี้จะมีข้อตกลงระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานฯ หากพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตามหลักฐานเดิมตั้งแต่ปี 2527 มาถึง 2530 จนถึง 2534 เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกัน เรียกว่าแนวกันชน ตนในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจะออกนโยบายว่าต่อไปนี้ พื้นที่ที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่ติดประชิดกัน จะไม่จัดให้พี่น้องเกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด นี่คือข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้ทั้งสองหน่วยงาน
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พื้นที่ที่มีปัญหา ตนได้มอบนโยบายให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ไปยกเลิกให้หมดทุกแปลงที่ทำการแล้วรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ ประเภท ส.ป.ก.4-01 ให้กับเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะคือตัวจริงหรือไม่ใช่ตัวจริง เราได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการดำเนินการเอาผิดทั้งวินัยและวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญา เบื้องต้นจะให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ออกคำสั่งยกเลิกทั้งหมดในเอกสารที่ออกมา นี่คือข้อตกลง และแนวทางการทำงานในอนาคตจะมีการบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานฯ ในการที่จะกระทำการใดๆ ก็ตามในพื้นที่ที่เราจะจัดสรรให้กับพี่น้องเกษตรกรจะต้องมีคณะกรรมการเป็นรูปธรรม ต่อไปจะมอบให้ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ประกอบด้วยทุกหน่วยงาน ทั้ง ส.ป.ก. กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ดินของรัฐทั้งหมด จะได้มีความโปร่งใส นี่คือสิ่งที่คุยกันไว้
@ต่อไป 2 กระทรวงต้องคุยกัน
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สิ่งที่เกิดปัญหา ตนไม่อยากจะโทษรัฐบาลที่แล้ว แต่การเริ่มรังวัดเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ตนจะแก้ปัญหาคือคือตนจะต้องทำความสะอาดบ้านของตนให้เรียบร้อย ในขณะที่เรากำลังจะทำประโยชน์ให้กับเกษตรกรก็เกิดปัญหาอย่างนี้ มันเป็นปัญหาที่กระทรวงกษตรฯต้องแก้ไข ขณะเดียวกันการทำงานเราเป็นรัฐบาลเดียวกัน และรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงมาจากพรรคเดียวกัน ตนไม่อยากไม่อยากให้เข้าใจว่าเป็นประเด็นการเมือง มันไม่ใช่ แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงาน ที่ไม่คุยกัน เพราะถ้าคุยกันจะไม่เป็นปัญหา ฉะนั้นต่อไปนี้จะให้ปลัดทั้งสองกระทรวงต้องคุยกัน อธิบดีกรมอุทยานฯและเลขาธิการส.ป.ก.ต้องคุยกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ปัญหาที่มีขึ้นมาต้องแก้ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันเราก็มีกรรมการกลางก็คือกรมแผนที่ทหาร ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้
เมื่อถามว่า พื้นที่ที่มีปัญหามีมากน้อยแค่ไหน และจะทำความเข้าใจประชาชนอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พื้นที่ที่ตอนนี้เราต้องเร่งแก้ปัญหาคือ พื้นที่ที่เกิดเป็นประเด็น ที่ได้เอาเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกรเข้าทำกินทั้ง 5 แปลง ตนสั่งการแล้วว่าให้ตรวจสอบความถูกต้อง สำคัญที่สุดต้องมีจิตใต้สำนึกว่ามันเป็นสภาพป่า แล้วไปจัดสรรได้อย่างไร ตนไม่เห็นด้วย และเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯที่ชี้แจงตนที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเหตุมีผล และตนลงพื้นที่ก็เห็นสภาพเป็นป่าที่ฟื้นขึ้นมาแล้ว เพราะเกษตรกรไม่ได้เข้าทำกินมานาน จิตสำนึกมนุษย์ไม่ควรจะจัดให้เกษตรกร อันนี้ตนจะตั้งกรรมการสอบสวนแน่นอน และเมื่อมีมูลว่าผิดก็ต้องดำเนินคดีอาญา
เมื่อถามว่า ถ้ายกเลิกไปแล้ว เกษตรกรที่ทำกินจะต้องทำอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า มันเป็นพื้นที่ที่ทำภาคการเกษตรอยู่แล้ว มันต้องเป็นรายๆ ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมอุทยานฯและส.ป.ก.ต้องพูดคุยกัน และตนมีนโยบายอยู่แล้วว่าไม่ควรจัดพื้นที่แนวกันชน อย่างน้อยเราก็ได้ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไว้ สำหรับพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทตนปรึกษา รมว.ทส.แล้วว่าหากเป็นพื้นที่ส.ป.ก. เราจะทำเป็นพื้นที่ประเภทป่าชุมชนเพื่อรักษาป่า
@สั่งย้ายเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เพราะเกิดปัญหาความโปร่งใสในการทำงาน
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวว่า ในส่วนของ ทส. เน้นย้ำการดำเนินการตามหลักกฎหมายก่อน หลังจากนี้การดำเนินการจึงต้องมีคณะกรรมการเข้าไปเดินสำรวจในพื้นที่ โดยกรมอุทยานฯ จะทำการสำรวจทั้งหมดในแนวเขตที่ออก ส.ป.ก. ซึ่งจะดูทั้งหมดว่าส่วนไหนที่มีปัญหา ทั้งนี้ ทส. ยืนยันทุกอย่างตามหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และหลักวิทยาศาสตร์
นายวิณะโรจน์ กล่าวถึงกรณีการย้ายเจ้าหน้าที่ส.ป.ก. นครราชสีมา 6 คน ออกนอกพื้นที่ว่า กรณีเกิดปัญหาความโปร่งใสการทำงาน จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา จึงต้องย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส และให้การสอบสวนเป็นไปด้วยความยุติธรรม