‘เศรษฐา’ เผยครม.เห็นชอบจัดประชุมสัญจรภาคเหนือ ‘พะเยา’ 18-19 มี.ค. 67 นี้ ส่วนการสั่งห้ามเสนอวาระจรเข้า เพราะงานเยอะและไม่มีเวลาพิจารณาเอกสารที่เสนอมาเร่งด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้จัดการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค. 2567 ที่ จ.พะเยา
ประเด็นการตรวจราชการสำคัญ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาศักยภาพการค้าการลงทุน (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (3) การพัฒนาศักยภาพการค้า การลงทุน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (4) การยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างความมั่นคง และ (5) การอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการบัญชามอบหมายภารกิจ ดังนี้
1.การลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ มอบหมายคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา และแพร่) เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวบรวมข้อมูลการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี
2.การประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธานการประชุมบูรณาการการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายเลขานุการ
3.การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีและวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเตรียมสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรี ดำเนินการจัดประชุม ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานสำหรับวาระกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่จะนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี
4.การตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย จัดกำหนดการตรวจราชการในภาพรวมของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567
5.การอำนวยความสะดวก ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการและอำนวยความสะดวกด้านที่พักของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเดินทาง และกำหนดการในภาพรวมของนายกรัฐมนตรี
6.การรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยในการดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน
7.การประชาสัมพันธ์ ให้กรมประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก และโฆษกกระทรวงดำเนินการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้แก่ประชาชน
8.การรักษาความปลอดภัย ให้กองทัพภาคที่ 1 กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและรักษาความปลอภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีคำสั่งห้าม ครม.เสนอวาระจรเข้าที่ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถ้าไม่มีความจำเป็นว่า รัฐบาลมีขั้นตอนในการทำงานเยอะอยู่แล้ว การพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้รอบคอบก็มีความสำคัญ ซึ่งทาง ครม.ก็ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย อีกทั้งหากมีวาระจรเข้ามาเยอะ การตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อความถูกต้อง เพื่อความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาลก็อาจจะด้อยลงไป แต่หากมีเรื่องด่วนที่สำคัญจริงๆ ก็สามารถเสนอเข้ามาได้