คกก.เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมีมติไม่รับคำร้อง 'ปรารถนา โพธิ์ดี' กรณีคะแนนเป็นทางการเปลี่ยนจากคะแนนที่ได้รับอย่างไม่เป็นทางการ จนลำดับลดลงเป็นลำดับที่ 9
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2567 เครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่เครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้เสนอชื่อนายปรารถนา โพธิ์ดี ตำแหน่งประธานเครือข่ายฯ สมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน) และหลังการเลือกตั้งสมาชิกเครือข่ายฯ ทุกท่านได้ทราบผลคะแนนที่ได้รับอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้รับคะแนน 15,080 คะแนน
ต่อมากระทรวงแรงงาน มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เรื่อง ผลการรวมคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ลงวันที่ 23 มกราคม 2567 ผลปรากฎว่า คะแนนของนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ผู้สมัครหมายเลข 1 ได้รับคะแนน 13,750 คะแนน ซึ่งคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงลดลงไปจากการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการมากถึง 1,330 คะแนน ทำให้ลำดับตกลงไปอยู่ที่ลำดับ 9 ของผลการเลือกตั้ง
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 นายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้มีหนังสืออุทธรณ์ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เพื่อใช้สิทธิยื่นคำคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ดังนี้
1. ขออุทธรณ์ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เรื่อง ผลการรวมคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ลงวันที่ 23 มกราคม 2567
2.ขอทราบรายละเอียดผลการนับคะแนนของทุกหน่วยการเลือกตั้ง และขอให้มีการตรวจนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่มีคะแนนของผู้สมัครหมายเลข 1 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ
3.ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ชี้แจงถึงผลการรวมคะแนนการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนว่าเหตุใดคะแนนถึงลดลงเป็นจำนวนมากถึง 1,330 คะแนน
4.กระบวนตรวจนับคะแนน รวบรวมคะแนน และประกาศผล ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะชนจึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าการปฏิบัติการตามกระบวนการดังกล่าว มีขั้นตอนใดที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ รวมทั้งเหตุใดคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ถึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตรวจสอบคะแนนทั้งหมดเป็นเวลานานถึง 1 เดือนเต็ม และเมื่อทราบผลคะแนนแล้วคะแนนผลปรากฏว่า คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นจำนวนมากทำไมถึงไม่แจ้งให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทราบก่อน หรือไม่มีการอัพเดทให้ทราบก่อน
5.จากประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ส่งผลให้นายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้รับความเสียหายที่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดหรือบกพร่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ โดยตรง จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ชี้แจงว่าผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างไรและคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่ผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าวอย่างไรหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยสั่งการคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม โดยพิจารณาคำร้องคัดค้านของนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย และมีคำวินิจฉัยสั่งการคำร้อง ดังนี้
การดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ภายหลังจากปิดการลงคะแนนเลือกตั้งและปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งจะเปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนโดยเปิดเผยนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ ตรวจสอบความถูกต้องในการนับคะแนนได้ทุกที่เลือกตั้งทั่วประเทศ
เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว รายงานผลการนับคะแนนในที่เลือกตั้งแบบ Real Time คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนแจ้งว่า การดำเนินการดังกล่าว มิใช่การบันทึกรายงานผลการนับคะแนนจากคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง เพียงแต่เป็นการรายงานในเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น ที่สำนักงานประกันสังคมจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ประกันตน นายจ้าง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับทราบควาเคลื่อนไหวในการนับคะแนนแบบ Real Time เป็นปัจจุบัน
และก่อนการจัดทำประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เรื่อง ผลการรวมคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567 ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนจากคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งและตรวจทานจากคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งจนเกิดความครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงต้องยึดถือและรับฟังประกาศรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งของคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งข้างต้น จึงไม่มีการตรวจนับคะแนนใหม่
และในส่วนของรายละเอียดผลการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับกรณีผู้คัดค้านขอให้ชี้แจงว่า จากการประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างไร และจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่ผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรหรือไม่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนแจ้งว่าไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะพิจารณา
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 60 แห่งระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน
จึงมีมติยกคำร้องคัดค้านของนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย และหากผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยสั่งการดังกล่าว สามารถนำคดีไปสู่ศาลปกครองได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
และต่อมาหลังจากที่นายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้รับคำชี้แจงจากคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนแล้วนั้น โดยคำชี้แจงดังกล่าวไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เชื่อได้ว่าการเปลี่ยนแปลงลำดับและคะแนนที่ลดลงไปเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องการคีย์คะแนนผิดพลาดก็ไม่มีการกล่าวถึงว่าผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เครือข่ายพนักงานราชการไทย จึงไม่ขอยอมรับคำชี้แจงดังกล่าว
แต่ยังไรก็ตามเครือข่ายพนักงานราชการไทย มีความประสงค์ที่จะไม่ร้องขอต่อศาลปกครองเนื่องจากคณะกรรมการบริหารเครือข่ายพนักงานราชการไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการร้องขอต่อศาลปกครองอาจจะมีภาระผูกพันหลายด้าน ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่าย เวลา และผลกระทบที่จะตามมาภายหลังหากมีการยื่นร้องขอต่อศาลอาจทำให้นายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การทำงานหลัก
และเพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการประกันสังคมเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ไม่ไปกระทบกับการดำเนินงานของทีมประกันสังคมก้าวหน้า ซึ่งเครือข่ายฯ ได้ร่วมดำเนินการผลักดันในด้านนโยบายกับทีมประกันสังคมก้าวหน้ามาก่อนแล้ว และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสูดต่อผู้ประกันตน เครือข่ายพนักงานราชการไทย
ทั้งนี้ นายปราถนา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา โดยย้ำว่า จะไม่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมการฯ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรายละเอียดคำชี้แจงของกระทรวงแรงงาน มีเนื้อว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนได้พิจารณาคำร้อง คัดค้านของท่าน (นายปรารถนา โพธิ์ดี) และมีคำวินิจฉัยสั่งการคำร้อง ดังนี้
การดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ภายหลังจากปิดการลงคะแนนเลือกตั้งและปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งจะเปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนโดยเปิดเผยนายจ้าง ผู้ประกันตน หรือบุคคลอื่นใดสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ ตรวจสอบความถูกต้องในการนับคะแนนได้ทุกที่เลือกตั้งทั่วประเทศ เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการประจำที่เลือกตั้ง จะทำรายงานผลการนับคะแนน จำนวน 3 ชุด และนำรายงานผลการนับคะแนน ชุดที่ 1 ปิดประกาศ ณ ที่เลือกตั้ง ชุดที่ 2 ส่งให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง และชุดที่ 3 ใส่ในหีบลงคะแนน
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง ได้รับรายงานผลการนับคะแนนแล้ว จะต้องดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมผลการนับคะแนนจากแต่ละที่เลือกตั้งภายในจังหวัดของตน (ที่เลือกตั้งทั่วประเทศ 934 ที่เลือกตั้ง) ด้วยความรอบคอบเพื่อให้เกิดความถูกต้อง
โดยคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีการประชุมเพื่อพิจารณาสรุปผลการนับคะแนน และจัดทำรายงานผลการนับคะแนน ชุดที่ 1 ปิดประกาศที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
และสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ และชุดที่ 2 ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการรวบรวมและติดตามรายงานผลการนับคะแนนจากทั้ง 79 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการรวบรวมผลคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละหมายเลขพร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนที่ส่งมา รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในการลงคะแนนทั้งในส่วนของบัตรดี บัตรเสีย และบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายไม่ประสงค์ลงคะแนน เทียบกันกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนเพื่อขอรับบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้มีความถูกต้องครบถ้วนตรงกัน
รวมทั้งการรวบรวมผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 15 วันทำการ นับถัดจากวันเลือกตั้งแล้วจึงเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนที่มีคะแนนมากที่สุดตามลำดับลงมาจนครบจำนวน รวมทั้งบัญชีร้ายชื่อสำรองผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน
ดังนั้นการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เรื่อง ผลการรวมคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567 จึงเป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 แล้ว
สำหรับการรายงานผลการนับคะแนนในที่เลือกตั้งแบบ Real Time คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว มิใช่การบันทึกรายงานผลการนับคะแนนจากคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง เพียงแต่เป็นการรายงานในเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น ที่สำนักงานประกันสังคมจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ประกันตน นายจ้าง ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับทราบความเคลื่อนไหวในการนับคะแนนแบบ Real Time เป็นปัจจุบัน
ทั้งนี้ ก่อนการจัดทำประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เรื่อง ผลการรวมคะแนนเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ลงวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567 ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนจากคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งและตรวจทานจากคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งจนเกิดความครบถ้วนถูกต้องแล้ว จึงต้องยึดถือและรับฟังประกาศรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งของคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งข้างต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดผลการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ รายละเอียดปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมเป็นไปตามที่ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 กำหนดแล้ว
สำหรับกรณีผู้คัดค้านขอให้ชี้แจงว่า จากการประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างไร และจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรกับผู้ที่ผิดพลาดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรหรือไม่ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั้น
คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะพิจารณา ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 60 แห่งระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน จึงมีมติยกคำร้องคัดค้าน
ดังกล่าวข้างตัน ทั้งนี้ กรณีท่านไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยสั่งการดังกล่าวสามารถนำคดีไปสู่ศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542