‘เลขา ป.ป.ช.’ มองรัฐบาลตั้งอนุฯ สแกนเงินหมื่นดิจิทัล ไม่ใช่การถอย ส่วนที่นายกฯบ่นให้ระบุใครคือกลุ่มเปราะบางที่ควรแจก ให้กลับไปคิดเอง ชี้สภาพัฒน์ก็ระบุชัดใครคือกลุ่มนั้น ก่อนย้ำจุดยืน ไม่เห็นด้วยแก้ พ.ร.ป.ป.ป.ช. เหตุรัฐธรรมนูญระบุเจตนารมณ์ให้เป็นผู้ฟ้องนักการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า กรณีคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งคณะทำงานมาทบททวนข้อท้วงติงของป.ป.ช.ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลต มองว่าอาจไม่ใช่การถอย แต่เป็นการพิจารณาข้อเสนอป.ป.ช.ที่มีความเห็นหลากหลาย ควรมีการศึกษาให้รอบคอบก่อนขับเคลื่อนต่อไป เป็นเรื่องดีให้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ให้รอบคอบ ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลรับฟังข้อเสนอแนะ
@โต้รัฐบาลต้องไปกำหนดเอง ใครคือกลุ่มเปราะบาง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตข้อเสนอป.ป.ช.ที่แนะนำให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงอยากทราบว่า ต้องมีรายได้แค่ไหนจึงเรียกว่ากลุ่มเปราะบาง นายนิวัติไชยตอบว่า เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องไปพิจารณาจะให้กลุ่มใดบ้าง มีเหตุผลอะไรบ้าง รัฐบาลอาจจะคิดให้เพิ่มขึ้นมานอกจากกลุ่มเปราะบางก็ต้องดูเหตุผล แต่ความจริงแล้วคำว่ากลุ่มเปราะบางอยู่ในหลักเกณฑ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)อยู่แล้วว่าคือ กลุ่มยากจนคือใครบ้าง มีฐานข้อมูลอยู่ สิ่งที่ป.ป.ช.พูดไม่ได้มโน เป็นฐานข้อมูลที่หน่วยงานส่งมาให้ป.ป.ช. เช่น สิทธิโครงการคนละครึ่งมีใครบ้าง หรือดูจากการเสียภาษีก็จะรู้ว่า ใครมีรายได้อย่างไรบ้าง ถือเป็นหลักทางวิชาการ
นายนิวัติไชยกล่าวว่า ข้อแนะนำของป.ป.ช.ไม่ได้ทำเกินอำนาจหน้าที่ เพราะมีบทบัญญัติมาตรา32 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ให้อำนาจป.ป.ช.ให้ข้อเสนอแนะต่อครม.ได้ ส่วนที่บอกโครงการยังไม่ได้เดินหน้า เหตุใดให้ข้อเสนอแนะนั้น หากโครงการเดินหน้าไปแล้ว แล้วให้ป.ป.ช.ให้ข้อเสนอแนะ จะไม่สายไปหรือ อาจมีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องให้ข้อเสนอแนะไปก่อน เหมือนป้องกันไว้ก่อนดีกว่าแก้ไข
“วันนี้เรื่องผ่านป.ป.ช.ไปแล้ว อยุ่ที่ฝ่ายบริหารต้องไปพิจารณา ดีใจที่นายกฯรับฟังข้อเสนอแนะป.ป.ช. แสดงว่าไม่ได้ทำอะไรผลีผลาม ไม่รีบทำโดยไม่สนใจฟังเสียงให้ข้อแนะนำ เป็นการขับเคลื่อนแบบมีความรอบคอบ เป็นเรื่องดี ขอชื่นชม”นายนิวัติไชยกล่าว
@ค้านแก้ กม.ป.ป.ช. เพราะรธน.ระบุเจตนารมณ์
ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทย ขอถอนร่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ออกจากการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่16ก.พ. นายนิวัติไชยกล่าวว่า ป.ป.ช.ไปชี้แจงเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)ทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ป.ป.ช.มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาผิดนักการเมืองทุจริต แสดงให้เห็นเจตนารมณ์เบื้องต้นป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายหรือประชาชนฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยตรง เพื่อป้องกัน หากมีการฟ้องได้โดยตรง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอาจถูกฟ้องอยู่เรื่อยๆ และพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายต้องไปรวบรวมก็เป็นภาระ ดังนั้นจึงให้มีองค์กรรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนหนึ่งก่อนส่งฟ้องศาล
ขณะที่ รัฐธรรมนูญปี2550 มีการปรับแก้ให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อกลั่นกรองรวบรวมพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้เสียหายหรือผู้ร้อง ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาตัดสิน หลักการต่างๆจึงชี้ให้เห็นรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายยื่นฟ้องได้โดยตรง ต้องผ่านกระบวนการก่อน เพราะความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ตำแหน่งหน้าที่ คนที่เสียหายจริงๆคือรัฐ เพราะผู้กระทำคือเจ้าหน้าที่รัฐ
นายนิวัติชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลที่มีเนื้อหาให้ผู้เสียหายสามารถพิจารณายื่นฟ้องคดีย้อนหลังได้โดยตรงในคดีที่ป.ป.ช.ลงมติให้ข้อกล่าวหาตกไปหรือไม่รับคำร้องนั้น ขณะนี้มีปริมาณคดีที่ป.ป.ช.พิจารณาให้ตกไป 15,000เรื่อง จะรื้อฟื้นคดีกลับมาหรือไม่ หรือการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรองคดีอีกชั้น ในคดีที่ป.ป.ช.ไม่รับหรือสั่งให้ตกไปนั้น ต้องดูว่าอัยการจะรับไหวหรือไม่ ใน15,000เรื่องเหล่านี้ ดังนั้นบทเฉพาะกาลนี้อาจมีปัญหาต่อการทำงานของอัยการในการฟ้องคดี เป็นข้อห่วงใยที่ป.ป.ช.ชี้แจงให้วิปรัฐบาลรับฟัง จึงเอากลับไปทบทวนให้กฎหมายมีความรอบคอบ