กสม.หนุนไทยจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมช่วยผู้หนีภัยสงครามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ชี้เป็นการกระทำสอดคล้องฉันทามติ 5 ข้อ ย้ำชัดต้องไม่ส่งผู้ประสบภัยกลับสู่พื้นที่อันตราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กสม.ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนของ กสม. สนับสนุนให้รัฐบาลไทยจัดตั้งพื้นที่เพื่อเป็นระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาและผู้หนีภัยสงครามตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา พร้อมทั้งชื่นชมที่ภาคส่วนต่างๆเข้าไปช่วยแก้ปัญหามนุษยธรรม
นางสาวศยามล กล่าวว่า ตามที่ยังคงปรากฏสถานการณ์การปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารเมียนมากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านกองทัพเมียนมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเกิดขึ้นเป็นระยะตั้งแต่ปี 2564 เรื่อยมา ส่งผลให้ประชาชนเมียนมา
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และคนที่ได้รับบาดเจ็บ หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในเขตประเทศไทยโดยพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ก็มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากหลายครั้งมีกระสุนปืนไม่ทราบฝ่ายตกมายังฝั่งไทย ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลและหลายคนต้องหนีไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
กสม. ได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อติดตามและหารือเพื่อให้ภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐสามารถส่งความช่วยเหลือการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเมียนมาที่หนีภัยการสู้รบเข้ามาในเขตประเทศไทย รวมทั้งประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบ โดยขอชื่นชมภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อริเริ่มจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” (Humanitarian Corridor) บริเวณแนวชายแดน
ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบศูนย์ส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา อันสอดคล้องและเป็นส่วนหนึ่งตามฉันทามติของผู้นำอาเซียนในการประชุม ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งไทยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้ 4 ประการ หรือ D4D ได้แก่
(1) De-escalating Violence การยุติความรุนแรง (2) Delivering Humanitarian Assistance การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (3) Discharge of Detainees การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และ (4) Dialogue การหารือเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ซึ่งในช่วงแรกเริ่มจะเป็นการเปิดศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance)
โดยส่งมอบความช่วยเหลือ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค ผ่านสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา
“กสม. ขอสนับสนุนการเดินหน้าจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) เพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาและผู้หนีภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา
โดยกำหนดให้มีพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการประหัตประหาร ผู้ที่หนีภัยการสู้รบ และผู้ที่พลัดถิ่นในประเทศเมียนมาที่ติดกับชายแดนไทย ทั้งนี้ ควรดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม โดยเร่งดำเนินการในพื้นที่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการพลัดถิ่นเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก บริเวณแนวชายแดนไทยของจังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้นไปทั้งหมด
และ กสม. ขอเน้นย้ำในหลักการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากการสู้รบ ไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย (non - refoulement) อันสอดคล้องและเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม” นางสาวศยามล กล่าว