สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชาชนแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่นำไปสู่ความรุนแรง เนื่องจากมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชาชน (สสส.) เผยแพร่แถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำอันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง เนื่องจากมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 กลุ่มทะลุวังจัดกิจกรรมบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยามสแควร์ โดยทำโพลตั้งคำถามต่อประชาชนและชี้แจงสื่อมวลชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ขณะที่ยืนแถลงข่าวอยู่นั้นมีกลุ่มบุคคลจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้ามาต่อว่ากลุ่มทะลุวัง จนกลายเป็นการโต้เถียงและใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน
มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำอันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเนื่องจากมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ตามที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มทะลุวังได้จัดกิจกรรมบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยามสแควร์ โดยทำโพลตั้งคำถามต่อประชาชนและชี้แจงสื่อมวลชน เกี่ยวกับขบวนเสด็จ โดยขณะที่ยืนแถลงข่าวอยู่นั้น ได้มีกลุ่มบุคคลจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้ามาต่อว่ากลุ่มทะลุวัง จนกลายเป็นการโต้เถียงและใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาระงับเหตุ และแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชน (สสส.) มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวว่า โดยคำนึงว่าในปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสังคมไทย เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้และฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการพาดพิงถึงถึงสถบันหรือบุคคลในสถาบันไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการใช้กำลังปะทะกันดังกรณีที่เกิดขึ้น และอาจบานปลายถึงขั้นเกิดการเข่นฆ่ากันกลางกรุงเทพมหานคร ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปในอดีต
สสส. เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด ความเชื่อ ทางการเมืองเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการเคารพในสังคมประชาธิปไตย หมายความว่าผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นและความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต โดยสันติ ไม่ยุยงให้เกิดความรุนแรง ไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในขณะที่ฝ่ายที่ตนเชื่อว่าต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่ตนเชื่อได้เช่นเดียวกัน แต่ทุกฝ่ายต่างไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หรือขัดขวางการแสดงออกของอีกฝ่ายหนึ่งโดยพละการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กำลังทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ ในความคิด ความเชื่อทางการเมือง และสิทธิในชีวิตและร่างกายถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการเคารพ และรัฐมีหน้าที่ที่จะคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของประชาชนกล่าวคือ ในกรณีเช่นนี้ รัฐมีหน้าที่ 3 ประการ ประการแรก รัฐบาลต้องไม่จัดให้คนของรัฐเข้าไปทำร้ายหรือละเมิดสิทธิของประชาชนเสียเอง ประการที่สอง รัฐบาลต้องมีหน้าที่ป้องกันมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะรัฐบาลต้องป้องกันมิให้ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างกันใช้กำลังเข้าทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง และประการสุดท้าย รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกันสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อประกันว่าประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีภายใต้หลักการไม่ใช้ความรุนแรงและเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นตามหลักสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยมีพันธผูกพันต้องปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สสส. จึงขอเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1. ขอให้รัฐบาลจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยเป็นสัดส่วน ในการใช้สิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยปลอดภัย มิต้องมีการเผชิญหน้ากัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงในอนาคต
2. ขอให้รัฐสภาจัดให้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของสิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย
3. ขอให้ประชาชนทุกฝ่ายอดทน อดกลั้น และมีความเคารพความเห็นต่าง ยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพและการสร้างความเกลียดชังต่อกัน เพื่อร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยเหตุและผล แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด
สสส. หวังว่าสังคมไทยจะมีความพร้อมและก้าวเดินไปด้วยกันเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยอันจะนำมาซึ่งความผาสุกแก่ทุกคนในสังคมไทยสืบไป
ด้วยเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและสันติภาพ
แถลง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชาชน (สสส.)