ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษี Vat โอนขาย ‘คริปโทเคอร์เรนซี-โทเคนดิจิทัล’ ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
............................
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) สำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมถึงนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ด้วย
2.ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโทเคนดิจิทัล (Token Digital) ในประเภทของโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ได้กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน (เดิมยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น) รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการโอนขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
น.ส.เกณิกา ระบุว่า กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1.การขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมจากที่สูญเสียอยู่ในปัจจุบัน
2.การขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้รวมถึงการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง และการขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้และโดยผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายรับของผู้ขายต้องถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณปีละ 70 ล้านบาท
ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ 1.การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ 2.การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ 3.นักลงทุนในประเทศไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้น
และ 4.ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา
สำหรับจำนวนบัญชีซื้อขายใน Exchange ณ เดือน ก.ย.2566 มี 2,945,001 บัญชี แบ่งเป็นบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว 87,982 บัญชี และบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว 2,857,019 บัญชี
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการตัวกลางตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.2566 มีจำนวน 387,783 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.มูลค่าการซื้อขายฯผ่าน Exchange จำนวน 296,094 ล้านบาท 2.มูลค่าการซื้อขายฯผ่าน Broker จำนวน 88,567 ล้านบาท และ 3.มูลค่าการซื้อขายฯผ่าน Dealer จำนวน 3,122 ล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการตัวกลางดังกล่าว ลดลงจากปีก่อน (เดือน ม.ค.-ก.ย.2565) ที่มีมูลค่าการซื้อขายฯ 1,133,411 ล้านบาท