‘ศาลปกครองสูงสุด’ กลับคำพิพากษา สั่ง คณะกรรมการฯ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ นำ 11 โครงการ พิจารณาเยียวยาผลกระทบ ตามหลักเกณฑ์ กกพ.
.....................................
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ศาลปกครองกลางได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส.109/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อส.283/2566 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ 1 กับพวกรวม 47 คน (ผู้ฟ้องคดี) คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ 1 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 2 (ผู้ถูกฟ้องคดี)
โดยผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ) นำโครงการของผู้ฟ้องคดีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการชุมชนที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้า เข้าสู่การพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) กำหนด
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาโครงการชุมชนจำนวน 11 โครงการ ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 47 ซึ่งเป็นโครงการที่คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นรอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มิได้นำเสนอเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนด ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
เนื่องจากศาลฯวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ) เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน ส่วน คพรต. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการชุมชนต่างๆ ก่อนนำเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาอนุมัติ ซึ่งอำนาจในการกลั่นกรองโครงการนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของ คพรต . แต่ละคน
และเมื่อได้ผลของการกลั่นกรองเป็นเช่นใดแล้ว คพรต. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน เพราะอำนาจในการพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตามข้อ 11(5) ของระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ.2553
ด้วยเหตุนี้ คพรต. จึงมีหน้าที่ที่จะต้องเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองและการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาทั้งหมด ตามนัยข้อ 25 (4) ของระเบียบเดียวกัน
การที่ คพรต. มีความเห็นว่าโครงการชุมชนจำนวน 11 โครงการของผู้ฟ้องคดี มีวัตถุประสงค์ไม่เป็นไปตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยได้พิจารณาและจัดเรียงลำดับของโครงการดังกล่าวในลำดับท้ายๆ และไม่นำโครงการของผู้ฟ้องคดีมาพิจารณาอนุมัติ เพื่อบรรจุเข้าแผนงานประจำปีเพื่อเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 1 กรณีดังกล่าว จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ) มิได้พิจารณาโครงการชุมชน จำนวน 11 โครงการของผู้ฟ้องคดี โดยอ้างว่า เมื่อ คพรต. ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมมิอาจก้าวล่วงไปในส่วนของการพิจารณาวินิจฉัยของ คพรต. ได้เมื่อภายหลังการพิจารณาแล้ว คพรต. มิได้นำเสนอโครงการทั้ง 11 โครงการของผู้ฟ้องคดี เข้าสู่การพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 1
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่อาจพิจารณาโครงการชุมชนที่ คพรต. พิจารณาจัดลำดับแล้วได้ จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ 1 กับพวกรวม 47 คน) ฟ้องว่า คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีมติเกี่ยวกับโครงการชุมชนต่างๆ โดยไม่ได้ยึดตามเจตนารมณ์ของระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานฯ เป็นเหตุให้โครงการชุมชนที่ผู้ฟ้องคดี นำเสนอไม่ได้ถูกบรรจุในแผนงานประจำปีเพื่อขออนุมัติงบประมาณ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ไม่มีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้กำหนดกรอบการจัดสรรเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชนไว้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเงินกองทุนและการพิจารณาโครงการชุมชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97 (3) พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 5 มี.ค. 2555 โดยกำหนดไว้ 11 แผนงาน
เมื่อพิจารณาโครงการชุมชนที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ในแต่ละตำบล เพื่อเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทั้ง 264 โครงการ พบว่า เป็นโครงการที่อยู่ในขอบเขตตามกรอบที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดไว้ทั้งสิ้น ซึ่งกรอบแนวทางที่กำหนดไว้ทั้ง 11 แผนงานดังกล่าว อาจจะมีส่วนทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือส่วนราชการอื่นๆ
แต่กรณีดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและหน่วยงานราชการเหล่านั้น ต่างมีพันธกิจที่จะต้องพัฒนาชุมชน และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่นในลักษณะเดียวกัน และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนของโครงการชุมชน จึงได้มีการบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนระดับหมู่บ้าน ตำบล
รวมทั้งได้มีหนังสือสอบถามไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบว่าโครงการชุมชนมีความซ้ำซ้อนหรือไม่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งว่าไม่พบว่ามีการซ้ำซ้อนกันของโครงการชุมชนแต่อย่างใด
การพิจารณาอนุมัติโครงการชุมชนเพื่อประกอบแผนงานประจำปีงบประมาณ 2555 ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางรวม 264 โครงการ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาอนุมัติแผนงานประจำปีงบประมาณ 2555 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอ จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ผู้ฟ้องคดี จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด