รองโฆษก อส.เผยรับเรื่องจากดีเอสไอแล้วคดี ตร.สระแก้วใช้ถุงดำทรมานรับ 'ลุงเปี๊ยก- ปัญญา คงแสนคำ 'สามี บัวผัน รับสารภาพ รออธิบดีตั้งอัยการกำกับการสอบสวน รับอาจต้องให้ อสส.ชี้ขาดว่าจะใช้พนักงานสอบสวนที่ใดดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวดำเนินการของอัยการต่อกรณีปรากฎคลิปเสียงว่าเจ้าที่หน้าที่ตำรวจ จ.สระแก้วมีการใช้ถุงดำทรมานนายปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยกเพื่อให้รับสารภาพว่าเป็นผู้สังหารน.ส.บัวผัน ตันสุ ผู้เป็นภรรยา ซึ่งทางด้านของนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวนเเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.)ได้ชี้แจงว่าทางอัยการรับเรื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอแล้ว และขณะนี้กำลังรอให้นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการแต่งตั้งอัยการไปกำกับการสอบสวน
โดยวันที่ 25 ม.ค.นายวัชรินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีที่นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ "กัน จอมพลัง" พาผู้เสียหายพาหลานสาวลุงเปี๊ยก มาขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย) ว่าเท่าที่ทราบจากดีเอสไอ เมื่อได้รับเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่จังหวัดสระเเก้ว หลังจากสืบสวนเสร็จแล้วปรากฏว่ามีพยานหลักฐานพอสมควรดีเอสไอก็ถือว่ารับเป็นคดีพิเศษ
รองโฆษก อส.กล่าวต่อไปว่าต้องอธิบายว่าพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ มาตรา 31 หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย 1. พนักงานสอบสวนตำรวจ 2. ก็คือฝ่ายปกครอง3. พนักงานสอบสวน ดีเอสไอหรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เเละ 4.อัยการ เรื่องนี้ถ้าเกิดว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอรับเรื่องจากการที่มีการมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ถือได้เลยว่าเป็นคดีพิเศษเป็นอำนาจของดีเอสไอโดยตรง
นายวัชรินทร์กล่าวว่าถ้าไปดูกฎหมาย พ.ร.บ.การการสอบสวนคดีพิเศษฯถ้าเป็นคดีพิเศษแล้วหน่วยงานอื่นไม่สามารถเข้าไปสอบสวนได้แล้วเพราะฉะนั้นดังนั้นคดีนี้ถือว่าอยู่กับเพียงหน่วยงานเดียวแต่ถ้ามีการระดมทีมในการให้เข้ามาร่วมในการทำคดีกับดีเอสไอก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายโดยการไปขอ เช่นอาจจะให้ฝ่ายปกครองเข้ามาร่วมหรือตำรวจเข้ามาร่วมอันนี้แล้วแต่ดีเอสไอ แต่ที่สำคัญที่สุดในพ.ร.บ.ฉบับนี้มาตรา 31 ดีเอสไอต้องทำหนังสือถึงอัยการ ให้อัยการเข้ามากำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในคดีนี้ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอโดยรักษาการอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำหนังสือมาถึง นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 31 ดังนั้นก็คือเท่ากับอัยการจะต้องเข้าไปกำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในเรื่องนี้
รองโฆษก อส. กล่าวต่อว่าขณะนี้นายกุลธนิต อยู่ระหว่างพิจารณาในการที่จะตั้งคณะทำงานเเต่งตั้งอัยการไปร่วมในการตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบข่าวจากทางอัยการจังหวัดสระแก้วว่าทางตำรวจสระแก้วก็ทำหนังสือถึงอัยการจังหวัดสระแก้วด้วย
"เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกรณีดังกล่าวจริงก็จะเกิดมีพนักงานสอบสวนหลายแห่งหลายท้องที่แบบนี้ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ มาตรา 31 จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้พนักงานสอบสวนใดเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน ผมอยากเรียนว่าบางคนไม่เข้าใจว่า กฎหมายฉบับนี้ทำไมถึงให้อำนาจอัยการเข้าไปทำหน้าที่นี้เนื่องจากทางผู้ร่างกฎหมายเห็นความสำคัญที่จะให้องค์กรอัยการเข้าไปกำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในกรณีเข้าข่ายของพ.ร.บ.ดังกล่าว" รองโฆษก อส.กล่าว
นายวัชรินทร์กล่าวต่อว่าเพราะการตรวจสอบการจับกุมก็ให้อัยการและฝ่ายปกครองเป็นผู้ตรวจสอบการจับกุมตั้งแต่แรก ตามมาตรา 22ถ้าพนักงานสอบสวนจับกุมไม่ได้แจ้งการจับกุมและไม่มีเหตุที่จะไม่แจ้ง เพราะทุกการจับกุมต้องเเจ้งให้อัยการและฝ่ายปกครองทราบ ถ้าอัยการและฝ่ายปกครองทราบก็จะได้ช่วยตรวจสอบตั้งแต่แรกว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาไปโดยมีการทำร้ายขู่เข็ญหรือพาไปในสถานที่ๆไม่ควรพาไปหรือไม่ เจตนารมย์ของกฎหมายคือต้องการตรวจสอบตั้งแต่การจับกุมและต่อมาคือถ้ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตามมาตรา5,6,7 อันนี้คือเมื่อเป็นคดีแล้วข้อสังเกตก็คือพนักงานสอบสวนที่จะมีอำนาจในการสอบสวนเรื่องนี้มีทั้งตำรวจ อัยการ ดีเอสไอและฝ่ายปกครองถ้ามีอัยการเป็นผู้สอบสวนแล้วไม่ต้องให้อัยการมากำกับหรือตรวจสอบเพราะอัยการสอบสวนได้เอง แต่ถ้าหน่วยงานอื่นอีก3 หน่วยงานสอบสวน ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดคือต้องมีอัยการเข้ามากำกับหรือตรวจสอบการสอบสวน
ส่วนที่ถามมาว่าเมื่อคดีนี้ตำรวจมีการร้องในพื้นที่ถึงอัยการสระเเก้วด้วยก็จะต้องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด แต่ถ้าเราดูแล้วถ้าเกิดว่าในพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการเลยตั้งแต่แรกเพราะว่าอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 157 เท่านั้น แต่ปรากฏว่าดีเอสไอทำการสอบสวนแล้วตั้งแต่แรก แนวโน้มทางดีเอสไอก็จะได้เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน ก็ถือว่ารับเป็นคดีพิเศษได้ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯถ้าเป็นคดีพิเศษเเล้วถือว่าหน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจสอบสวนแล้ว
“ขออนุญาตยกตัวอย่างอย่างเช่นคดีของอดีตผู้บังคับการจังหวัดชลบุรีในการที่ถือว่าเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯมีอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดโดยสำนักงานอัยการสอบสวนเข้ามากำกับหรือตรวจสอบในคดีนี้ครับ” รองโฆษก อส.กล่าว