สธ.ชูกลไก 'ชุมชนล้อมรักษ์' บูรณาการ 5 ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 'ชลน่าน' ย้ำครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ แต่หากไม่สมัครใจบำบัดต้องดำเนินคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) “ชุมชนล้อมรักษ์” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบาย “ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ปราบปรามสกัดกั้นยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติดให้สิ้น”
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) หรือเรียกว่า “ชุมชนล้อมรักษ์” ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากการติดยาเสพติดถือเป็นความเจ็บป่วยที่ซับซ้อน ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคมและการดำเนินชีวิต และเป็นโรคเรื้อรังที่กลับเป็นซ้ำได้อีก จึงต้องได้รับการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพแบบรอบด้านและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน
“การรักษาในระยะสั้นแค่ให้หมดอาการ หรือการลงโทษ หรือการนำผู้ป่วยออกจากชุมชนไปกักขังชั่วคราว ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ ต้องส่งเสริมให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ โดยค้นหาเชิงรุกด้วยมาตรการเชิงบวก ส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขคัดกรองเข้ารับการบำบัดอย่างเหมาะสม และเตรียมความพร้อมก่อนส่งกลับเข้าสู่ชุมชน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบครัวและชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดสำเร็จได้อย่างยั่งยืน” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจ “ชุมชนล้อมรักษ์” ให้บรรลุเป้าหมาย จะใช้กลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมาจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เป็นแกนหลักในการประสานและสนับสนุนการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ นายก อบต. และสาธารณสุขอำเภอ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างประสิทธิภาพ เพื่อสร้าง “ชุมชนล้อมรักษ์” ในทุกอำเภอ
ในการประชุมครั้งนี้ มี 5 ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง จาก 200 อำเภอ ใน 31 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 1,095 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านยาเสพติด เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนมีส่วนร่วม (CBTx) ภายใต้แนวคิด “สร้างความสุข เติมความรัก โอบอุ้มสังคมให้อบอุ่น เพื่อเป้าหมาย คืนคนสู่สังคมอย่างปลอดภัย” ต่อไป
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า สำหรับกฎหมายใหม่เรื่องครอบครองยาเสพติด อย่างยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดสันนิษฐานเป็นผู้เสพ ที่บำบัดรักษาได้ หากไม่สมัครใจบำบัดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ว่ากันไปตามกฎหมาย โทษครอบครองติดคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ส่วนเสพติดคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หากไม่ได้ครอบครองแต่พบว่าเสพ มีโทษ เพียงแต่มีเรื่องกระบวนการทางกฎหมายว่า หากสมัครใจรักษา ก็เข้าสู่กระบวนการรักษาจนเสร็จ มีสถาบันบำบัดรักษารับรองก็ถือว่า ไม่ต้องรับผิด
“แม้เราใช้กฎหมายเต็มที่ แต่คนก็มีเหลี่ยมเยอะมาก เช่น เมื่อให้สิทธิผู้เสพ เป็นผู้ป่วยต้องเข้าสู่การบำบัดแบบสมัครใจ กลับพบว่า บางคนปฏิเสธบำบัด ไม่สมัครใจรักษา แต่พบว่าครอบครองยาบ้า 2 เม็ด ก็จะมีโทษครอบครอง ศาลก็ใช้ดุลยพินิจ มี 2 เม็ดไม่จำคุก แต่มีโทษปรับและปล่อยกลับคืน ดังนั้น ชุมชนล้อมรักษ์ ต้องใช้กลไกที่เข้มแข็งดึงพวกเขาให้สมัครใจบำบัดให้ได้ ตัดวงจรเสพซ้ำๆ และไม่ให้กลายเป็นผู้ค้ารายย่อย ถึงแม้เขาจะหาช่องเลี่ยงยังไง แต่เขายังอยู่ในชุมชน พวกเราจึงต้องช่วยกัน” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามเว่าการค้นหาเพื่อเข้ากระบวนการบำบัดต้องยึดเกณฑ์ครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ดเป็นผู้เสพหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ยึดตรงนั้นเป็นหลัก ใครมีพฤติกรรมเกี่ยวข้อง เราจะมาดูรายละเอียด หากมีมากกว่า 5 เม็ดก็สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า แต่หากมี 5 เม็ดลงมาให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ครอบครองเพื่อเสพ ก็เข้าสู่กลไกบำบัดรักษา