‘เศรษฐา’ สรุปภาพรวมครม.สัญจรระนอง ปลื้มได้เห็นพื้นที่ก่อสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ ก่อนระบุรับฟังเสียงคัดค้านและพร้อมพูดคุย ก่อนลงไปพบแกนนำ ยืนยันรับฟังไตร่ตรองทุกเหตุผล ส่วน สว.เตรียมซักฟอกทิ้งทวน พร้อมแจง ขณะที่การแต่งตั้ง เลขาสมช.คนใหม่ รอสภาสมช.เคาะก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ในการลงพื้นที่ตรวจราชการเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 ได้ไปดูท่าเรือระนอง - เกาะสอง โดยมีการอนุมัติปรับปรุงท่าเรือท่องเที่ยว และการขนส่งให้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาท่าเรือให้เป็น One Stop Service เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนทำมาค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน เร่งรัดให้คนได้มีสัญชาติและพิสูจน์สิทธิให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อรับสิทธิขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยได้ลงพื้นที่ตรวจการก่อสร้างสะพานข้ามคลองอ่าวเขาควายบนเกาะพยาม เพื่อช่วยเด็กนักเรียนในการเดินทาง สร้างสะพานให้เด็กนักเรียนชาวมอแกนสามารถเดินทางไปโรงเรียนได้สะดวก
@พร้อมคุยกลุ่มต้านแลนด์บริดจ์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ได้ไปดูจุดก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ทำให้จ.ระนองและจ.ชุมพรเจริญมากยิ่งขึ้น มีการสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม และยังได้รับหนังสือร้องเรียนจากฝ่ายที่เห็นชอบกับการก่อสร้างโครงการ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันต่อไป และภารกิจสุดท้ายก็ไปดูบ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน ที่บ่อน้ำแร่ร้อนรักษะวาริน เพื่อส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังมีบางเรื่องที่ยังขาดอยู่ เช่นเรื่องการประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของบ่อน้ำพุร้อนคืออะไร มีสารอะไรบ้างที่ให้คุณประโยชน์กับร่างกาย ซึ่งสั่งการให้สั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปทำการบ้านเพิ่มเติมมา
@พร้อมอภิปรายชี้แจง สว.
ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นายกรัฐมนตรีระบุว่า ยังไม่ทราบว่า จะสะดวกให้ สว.อภิปรายช่วงไหน ต้องให้นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างสภาฯกับครม. เป็นผู้กำหนดวันที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของรัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงทุกข้อใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ในส่วนรัฐบาลพร้อมชี้แจงทุกเรื่องเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากมีการเข้าชื่อได้ครบแล้ว ก็ต้องต่อที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นธรรมดา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงประเด็นการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ด้วยว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้พิจารณา เรื่องต้องไปที่สภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน
ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์
@พบปะกลุ่มค้านแลนด์บริดจ์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษา จ.ระนอง เพื่อพบกับกลุ่มภาคประชาชนที่เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ประมาณ 100 กว่าคน โดยมีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มคัดค้าน
@ขอรัฐบาลศึกษา แลนด์บริดจ์ ให้รอบด้าน
แกนนำกลุ่มผู้คัดค้าน กล่าวว่า ทราบดีถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งมั่น และที่สำคัญเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ในทุกมิติ และหลายนโยบาย ทางกลุ่มไม่ได้คัดค้านพร้อมสนับสนุน
แต่โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จึงมีข้อแนะนำและเรียกร้อง ให้รัฐบาลจะต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านและได้มาตรฐาน การศึกษาจะต้องไม่ลำเอียง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยบูรณาการกับแผนงานอื่นๆอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน รวมถึงประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมโดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์เป็นไปอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านยังมีข้อเรียกร้องอีกว่า อยากให้รัฐบาลทำการพัฒนาในด้านต่างๆควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการประมงและการเกษตร และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการทำงาน ที่จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
@นายกฯ ยันทุกเสียง รบ.ไตร่ตรอง-รับฟัง
ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอสรุปโดยสังเขป กลุ่มผู้คัดค้านมีข้อสงสัยอยู่หลายข้อ หนึ่งเรื่องการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ครอบคลุมหรือเปล่า มีอิสระหรือเปล่า ดูแลทุกมิติหรือเปล่า ไม่ใช่แค่แลนด์บริดจ์อย่างเดียว อุตสาหกรรมที่จะมาต่อเนื่องในอนาคตด้วย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นด้วย ตรงนี้รับฟังจะนำไปพิจารณาเป็นข้อประกอบการทำเอกสารศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำแลนด์บริดจ์ และวันที่ 23 ม.ค. 2567 ได้มีการพูดคุยตามมาด้วยเกี่ยวกับเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ นอกเหนือจากแลนด์บริดจ์
“ผมมั่นใจว่ารัฐบาลนี้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการที่จะสร้างสนามบินอันดามันเนเชอรัล ที่จังหวัดพังงา ทราบดีว่าเราดำเนินการแล้วโดยรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะเรื่องการประมง เมื่อได้มีคณะกรรมการประมง 14 จังหวัดมาขอบคุณ โดยอาทิตย์หน้าจะเอาพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประมง เพื่อให้ชาวประมงกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้งตามกฎของไอยูยู รัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องที่พูดมา เรื่องวัฒนธรรมกีฬา อาหารต่างๆเหล่านี้ได้บรรจุไว้นโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ขอยืนยันทุกสิทธิ์ทุกเสียงของพี่น้องประชาชนจะได้รับการรับฟัง ไตร่ตรองที่ดีจากรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีระบุ