สมาชิกวุฒิสภา ยื่น ‘พรเพชร’ ขอเปิดอภิปรายรัฐบาลตามมาตรา 153 รัฐธรรมนูญแล้ว ‘เสรี’ ย้ำไม่ใช่การอภิปรายล้มรัฐบาล ยืนยันประเทศเจอปัญหารอบด้าน 7 ประการต้องถามและแนะนำรัฐบาล ส่วนกรณี ‘ทักษิณ’ ไม่เน้นตัวบุคคล เน้นอภิปรายหลักการ ขณะที่ปธ.วุฒิฯมองไม่ใช่ผลงานทิ้งทวน คาดได้คิวอภิปราย ก.พ.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 มกราคม 2567 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมด้วยสมาชิก สว. อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เข้ายื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 153 พร้อมรายชื่อสว.ที่ร่วมลงชื่อในญัตติจำนวน 98 คน ยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
@อภิปรายเพราะประเทศเจอปัญหา 7 ด้าน
นายเสรี กล่าวว่า ที่ต้องยื่นอภิปรายเนื่องจากประเทศกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตทั้ง 7 ด้าน ยืนยันว่าไม่ได้เลือกอภิปรายตามบุคคล ไม่ได้เลือกซักฟอกตามรัฐบาล เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ก็เป็น ครม.กับชุดที่แล้ว และคาดหวังว่า การอภิปรายในสภาจะเป็นผลบวกในทางปฏิบัติเพื่อให้รัฐบาลสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยปัญหาที่เรานำมายื่นอภิปรายรัฐบาล ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทางรัฐบาลควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่กลับวนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต และอาจทำให้สำเร็จเนื่องจากมีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญตามที่รัฐบาลเคยพูดมาโดยตลอด แต่ 4 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลงานเป็นรูป
นายเสรีกล่าวต่อว่า อีกข้อที่สำคัญคือกระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลสามารถรักษามาตรฐานความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ หาช่องหาผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอว่าบริหารมาเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่สามารถนำมาพูดกันได้
@อภิปราย 2 วัน - ไม่ชัดแตะ ‘ทักษิณ’ หรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจมีการโยงไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอภิปรายก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่เน้นในหลักการ ดังนั้น จะเปิดอภิปรายก่อนหรือหลังไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะยึดหลักยุติธรรมให้เป็นธรรมได้แค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้ได้กับทุกคนเท่าเทียมกัน
เมื่อถามว่า ในการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ และมีใครเป็นผู้อภิปรายบ้าง นายเสรี กล่าวว่า ตั้งใจไว้ว่าจะอภิปราย 2 วัน ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนั้นอยู่ที่ว่าใครจะมาแสดงความจำนง ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ต้องแสดงความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถจัดลำดับได้
@กระตุกรัฐบาลคิดให้ดี นโยบายเงินหมื่นดิจิทัล
ส่วนความคิดเห็นของ สว. เรื่องดิจิทัลวอลเลต เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกัน นายเสรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่จะแจกเงินดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีคำถามว่าแล้วกระตุ้นได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น ประชาชนเชื่อว่าไม่ว่าจะแจกในรูปแบบใด เดี๋ยวก็ใช้หมดในเวลารวดเร็ว และเงินที่จะนำมาแจกนั้นมีที่มามาจากไหน กู้มาหรือไม่ มีดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้งนโยบายนี้เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะจาก ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ฉะนั้น รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการเป็นหนี้ 5 แสนล้านบาท หากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับประชาชนอย่างยั่งยืน จะสามารถช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพูดในสภา
@วัน-เวลา รอประสาน ครม. คาดไม่เกิน ก.พ.นี้
ด้าน นายพรเพชร กล่าวว่า กระบวนการในการส่งหนังสือฉบับนี้ไปให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลที่ระบุมาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ และต้องประสานงานไปยัง ครม. ในการมาชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้น ต้องให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไปประสานงานกับครม. ว่าประสงค์จะมาชี้แจงในเวลาใด และใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะต้องรายงานกลับมาที่ตน ว่า ครม.มีความพร้อมหรือไม่ ดังนั้น กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่วันนี้
เมื่อถามว่า การอภิปรายในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ถ้าเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินก็สำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงไม่เข้าหลักตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ครม.ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องอื่นๆ ตนจะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง
ส่วนจะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงทิ้งทวนก่อนหมดสมัยใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่คิดว่าการทำงานของ สว. เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และถ้าสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายได้ ก็ยังอยู่ในกรอบการดำเนินงานของรัฐสภา จึงไม่มีปัญหาอะไร
“จะโบแดงหรือโบขาว ทุกคนก็จะตระหนักได้เอง ผมเข้าใจความประสงค์ของสมาชิก ว่าต้องการทำให้เกิดประโยชน์” นายพรเพชรกล่าว
เมื่อถามว่า จะแจ้งให้กับทางรัฐบาลทราบเมื่อไหร่ นายพรเพชร กล่าวว่า คงแจ้งทันทีไม่ได้ ต้อบดูญัตติก่อน ซึ่งเท่าที่ฟังมาอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกอยากได้ในช่วงเดือน ก.พ. ก็จะดูให้ว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนขั้นตอนธุรการ ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะจัดการให้ แต่เรื่องกรอบเวลา ตนกับผู้เสนอจะเป็นคนประสานงานกัน