ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษา กรณีภาคประชาชน นักวิชาการ ชนะคดีฟ้องนายกฯ ประยุทธ์-หน่วยงานรัฐ ละเลยแก้ปัญหา PM 2.5 ภาคเหนือล่าช้า ทำให้เกิดผลกระทบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 ศาลปกครองเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษา ในกรณีเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ตัวแทนผู้ฟ้องคดี ประกอบด้วยนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และภาคประชาชนเดินทางมาที่ศาลปกครอง หลังฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ประเด็นวิกฤตฝุ่นพิษในภาคเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาล สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ละเลย หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ใน จ.เชียงใหม่ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยศาลพิจารณาข้อมูลจาก จีสด้า กรมควบคุมมลพิษ เห็นว่าภาคเหนือมี ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานตั้งแต่ปี 2560 เกินค่าระดับ 100 มค.ก./ลบ.ม. และเห็นข้อมูลจากคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มช. สปสช.เขต1 รพ.มหาราชเชียงใหม่ ว่าตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
แม้นายกรัฐมนตรี จะมีมาตรการต่าง ๆ แต่ยังทำให้ประชาชนตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ เห็นว่านายกรัฐมนตรึปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ส่วนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี 2562 มี มติ ครม.วาระฝุ่นแห่งชาติขับเคลื่อนแก้ปัญหา แต่เมื่อ สถานการณ์ฝุ่น เกิน 101 มค.ก./ลบ.ม. ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.-เม.ย. โดยเฉพาะปี2566 มีหลายจังหวัดประสบปัญหา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และพิษณุโลกมีสถานการณ์ฝุ่นร้ายแรงเกิน 101 มค.ก./ลบ.ม. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ปรากฏการประชุม เร่งด่วน หรือพิจารณาเร่งด่วน
ศาลจึงพิพากษา ให้นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมาตรการระยะสั้น และระยะยาว ตาม พ.ร.บ.รักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางแก้ปัญหา และบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ปัญหาให้ทันท่วงที โดยกำหนดทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน นับตั้งแต่คำพิพากษา
สำหรับข้อเรียกร้องที่สำคัญในคดีที่ฝ่ายผู้ฟ้องทั้ง 10 เรียกร้อง คือ
-
ให้นายกรัฐมนตรีใช้ มาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ให้มีคำสั่งหน่วยงานอย่างเข้มงวดแก้ปัญหา
-
ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปฏิบัติตามแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “แก้มลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศมาตั้งแต่ปี 2562