กสม. ชี้ตำรวจยัดข้อหาลุงเปี๊ยกคดีฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” ขัดต่อหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเอาผิดเจ้าหน้าที่ และเยียวยาผู้เสียหาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีเด็กและเยาวชน 5 คน ก่อเหตุทำร้ายร่างกายและฆ่านางสาวบัวผัน ตันสุ หรือ “ป้าบัวผัน” และนำศพไปทิ้งบ่อน้ำเพื่ออำพรางคดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ในท้องที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศได้นำตัวนายปัญญา คงคำแสน หรือ “ลุงเปี๊ยก” ซึ่งเป็นสามีมาสอบสวนและให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งต่อมาปรากฏหลักฐานว่าสามีผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่กระทำทรมานและบังคับข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ รวมถึงให้นำชี้จุดเกิดเหตุ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามข่าวเหตุการณ์ข้างต้นมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศ ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 วางหลักไว้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน และมาตรา 27 ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใดจะกระทำไม่ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่า “ป้าบัวผัน” และ “ลุงเปี๊ยก” ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตามที่ควรจะเป็น และได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มีความพยายามช่วยเหลือผู้ก่อเหตุ และสร้างสถานการณ์ให้ “ลุงเปี๊ยก” ตกเป็น “แพะ” หรือจำเลยแทนอย่างเลวร้าย
การนำ “ลุงเปี๊ยก” ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 14 ที่ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หลักการเช่นว่านี้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คุ้มครองบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะต้องไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้กระทำความผิดจนกว่าจะได้มีการพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย
ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 และกติกา ICCPR ข้อ 14 ได้วางหลักไว้ว่า รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม โดยจัดหาทนายความให้แก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และผู้ต้องหานั้นต้องได้รับแจ้งข้อกล่าวหาโดยพลันด้วย ด้วยเหตุนี้ การดำเนินคดีใด ๆ ต่อผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบตามกฎหมาย
วิธีพิจารณาความอาญาซึ่งสอดคล้องกับกติกา ICCPR และต้องแจ้งให้บุคคลนั้นได้รับทราบว่าตนมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย มีสิทธิปรึกษาหารือกับทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจ ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิให้แก่ผู้ต้องหา ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิ
ในกระบวนการยุติธรรมด้วย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมานหรือการประติบัติหรือการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี กสม. เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว “ลุงเปี๊ยก” ไปสอบสวนในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศแต่ให้ถอดเสื้อ นำถุงดำมาคลุมศีรษะ และบังคับข่มขู่เพื่อให้รับสารภาพ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ด้วย ซึ่งในการดำเนินคดีอาญา รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือหรือคำรับสารภาพจากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานฯ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาทราบแต่ไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำความผิดย่อมต้องรับผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยตามกฎหมายนี้ และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงในการควบคุมตัวก็ถือว่ามิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เช่นกัน
กสม. ขอเน้นย้ำว่า สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมถึงประชาชนทุกคน รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มเพื่อให้สิทธิต่าง ๆ เกิดขึ้น จากกรณีข้างต้น กสม. จะส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ และเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ขณะเดียวกัน กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นธารสำหรับทุกคน (Access to Justice for All) เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป