ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงว่าด้วยการใช้น้ำ 3 ฉบับ ‘ลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท - ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำ - หลักเกณฑ์อัตราค่าใช้น้ำและการลดหย่อน’ คาดมีผลใน 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 มกราคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงรวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. .... 2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้ประเภทที่สาม พ.ศ. .... และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. .... โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
นายรัดเกล้า กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้ 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1) กำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการช้ำน้ำในปริมาณเล็กน้อย
2) กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า และการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการประปา ซึ่งมีอัตราการใช้น้ำบาดาลเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ แต่ไม่เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรืออัตราการใช้น้ำผิวเดินไม่เกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
และ 3) กำหนดลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่การใช้น้ำสาธารณะในปริมาณมาก ได้แก่ การใช้น้ำบาดาลเกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อบ่อ หรือการใช้น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำเกิน 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน การใช้น้ำส่งที่อาจส่งผลให้สมดุลของทรัพยากรน้ำสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ คุณภาพของทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้น ระบบนิเวศหรือลุ่มน้ำอื่นต่อ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้น้ำของการนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สอง และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม พ.ศ. .... ประกอบด้วย
1) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยกำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ได้รับการลดค่าธรรมเนียมกึ่งหนึ่งสำหรับกรณี การใช้น้ำสาธารณะใบการประกอบธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน การประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุปโภคบริโภคเนื่องจากไม่มีน้ำประปาให้บริการในพื้นที่ และการประกอบกิจการที่ต้องใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับกรณี 1) หน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชน (สามารถบริการประชาชนได้ 3,400 คนต่อวัน) ในพื้นที่ของตน เฉพาะกรณีประปาหมู่บ้านที่กำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง การผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน และการใช้น้ำในโรงพยาบาลและ 2) การใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ สำหรับการใช้น้ำประเภทที่สอง และการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บ ลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. ....
โดยให้กำหนดค่านิยามต่าง ๆ ได้แก่ ต้นทุนการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ค่าใช้จ่ายเงินลงทุน ต้นทุนการอุปทานน้ำ ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และเงินสำรองเพื่อการบรรเทาวิกฤตน้ำ รวมถึง กำหนดวิธีการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ดังนี้ ค่าใช้น้ำ = อัตราค่าใช้น้ำ x ปริมาณน้ำที่ใช้ โดยสูตรการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ประกอบด้วยปัจจัย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเก็บค่าใช้น้ำ ต้นทุนการอุปทานน้ำ เงินสำรองสำหรับการบรรเทาวิกฤตน้ำเมื่อมีการขาดแคลนปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้ที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และปริมาณอุปทานน้ำทั้งหมดทั้งนี้ ให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่แตกต่างกันได้ลักษณะเฉพาะของทรัพยากรน้ำสาธารณะและอัตราค่าใช้น้ำสำหรับน้ำบาดาลจะต่ำกว่าอัตราค่าใช้น้ำผิวดินไม่ได้ และให้ทบทวนอัตราค่าใช้น้ำทุก 5 ปี
“ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว 3 ฉบับ กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่ให้ใช้กับน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล (มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ) เนื่องจากมีการกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2556) ออกตามความในพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำบาดาล” นางรัดเกล้ากล่าว
ที่มาภาพปก: สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ