สธ.เผยปี 66 ไทยป่วยไข้หวัดใหญ่ 4.72 แสนราย ตาย 29 ราย เตรียมฉีดวัคซีนฟรี 2 แสนโดส กับผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ธ.ค. 2566 ยังคงมีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พบผู้ป่วย 472,222 ราย เสียชีวิต 29 ราย ได้แก่ นครราชสีมา 8 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย สงขลา กทม. เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และตาก จังหวัดละ 2 ราย พิษณุโลก ชัยภูมิ ราชบุรี นครศรีธรรมราช ปทุมธานี และลำพูน จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง พะเยา ภูเก็ต กทม. และเชียงใหม่ ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 0 - 4 และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบการระบาดในพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ และมีประชากรหนาแน่น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวและส่งเสริมให้การท่องเที่ยวปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดเพิ่มเติม จำนวน 200,000 โดส ให้กับผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น พนักงานขับรถแท็กซี่ พนักงานขับรถประจำทาง ผู้ให้บริการสถานที่พัก เช่น พนักงานโรงแรม โฮมสเตย์ อพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น ผู้ประกอบการสถานบริการ เช่น ผับบาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหาร นวดสปา หรือสถานที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยนำร่องในพื้นที่ 31 จังหวัดนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดโรคและภัยสุขภาพ ครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า แนวทางการป้องกันควบคุมโรค โดยแนะนำให้ผู้ให้บริการสาธารณะแก่นักท่องเที่ยวรวมถึงประชาชนทั่วไปปฏิบัติตน ดังนี้
-
ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อน
-
ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
-
ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
-
กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และใช้ช้อนกลาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น หากสงสัยป่วย แนะนำให้สวมหน้ากากทุกครั้ง เมื่อใกล้ชิดกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก รวมทั้งเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 สวมหน้ากากในที่สาธารณะ ผู้มีโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนควรรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน
-
เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล สถานประกอบการ เป็นต้น
-
สำหรับสถานประกอบการต่างๆที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ควรจัดเตรียมที่สำหรับล้างมือ หรือ เจลแอลกอฮอล์ ไว้ให้นักท่องเที่ยว และหมั่นทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ที่มีการสัมผัสร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้