'เศรษฐา' นั่งหัวโต๊ะประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ห่วงมหาวิทยาลัยไทย อันดับต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ลั่นต้องยกระดับการศึกษาไทย ปรับหลักสูตร พัฒนาทักษะแรงงาน ตอบสนองตลาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยนายกฯกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และยกระดับการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการเสริมสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงให้สามารถสนองตอบตลาดแรงงานในปัจจุบันได้ และยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป
โดยรัฐบาลมีแนวทางในการขับเคลื่อนด้านอุดมศึกษา หลังจากที่ได้บินไปต่างประเทศพบปะนักลงทุนนานาประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น พบว่าปัจจัยหลักในการลงทุน คือ ทักษะของแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งจะเป็นคำถามแรกๆ แต่ในขณะที่แรงงานไทยมีปัญหาในช่องว่างของทักษะ หรือแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย 2022-2023 ผลปรากฏว่า การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยประเทศไทย ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอาเซียนหลายๆ ประเทศ ซึ่งตนค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และหวังที่จะเห็นมหาวิทยาลัยไทยให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น หลักสูตรการเรียนการสอน ควรปรับปรุงให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ ส่วนคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ก็จำเป็นที่จะจะต้องเพิ่มพูนองค์ความรู้ในการสอนเช่นเดียวกัน โดยผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับนิสิต นักศึกษาเป็นหลัก เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ตนทราบมาว่าอาจารย์บางคน อาจจะไม่ถนัดการสอน แต่ถนัดงานด้านวิจัยที่มีความสามารถ จึงอยากให้จัดสายงานอาชีพให้มีความเหมาะสมกับคนเก่งเหล่านี้
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้มหาวิทยาลัยควรปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัย เพื่อให้นิสิตศึกษาได้ใช้ รวมถึงการบ่มเพาะให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และโปรแกรมขั้นสูงต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน โดยในโลกปัจจุบันหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ คือ ธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ เชิงลึก หากมหาวิทยาลัยสามารถบ่มเพาะให้กับนักศึกษาได้
เชื่อว่าในอนาคตจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยอีกมาก และเชื่อว่าประเทศไทยจะมียูนิคอร์น ที่โตระดับโลกได้ โดยยูนิคอร์นเหล่านั้นกำลังรอคอยที่จะถูกค้นพบในมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนในการนำนักลงทุน มาเจอกับว่าที่ยูนิคอร์น เหล่านี้โดยใช้กลไกที่แถลงไว้
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของประเด็นการศึกษา ฝากให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ปรับตัวพัฒนาตนเอง ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่วนเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเห็นผลงานวิจัย ที่ตรงกับ เป้าหมายของรัฐบาล เช่นเรื่องของรถยนต์อีวี อยู่แม้กระทั่งเรื่องของไนโตรเจน ที่กำลังอยู่ในการพัฒนา, พลังงานสะอาด, พลังงานหมุนเวียน, เศรษฐกิจสีเขียว, เทคโนโลยี Ai, เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี หรือการเป็นศูนย์กลางทางด้านอาหารในอนาคต อีกหลายๆ อย่าง