ผู้ประกอบการสุราชุมชน จ.ตรัง ชี้มาตรการลดภาษีสุราพื้นบ้าน 0% มีเงื่อนไขยิบย่อย หวั่นภูมิปัญญาไทยตายเรียบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 มีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอชุดมาตรการ จำนวน 2 มาตรการ เพื่อส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยกระทรวงการคลังระบุ เตรียมออกกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุราชุมชนบางประเภท และการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ เพื่อจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อยใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว
ล่าสุดนายปกิธพลธณ์ พันธุ์โรจนะ ผู้ประกอบการสุราชุมชน ยี่ห้ออำไพ จ.ตรัง กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าคงต้องรอดูประกาศกระทรวงให้ชัดอีกครั้งว่า กระทรวงการคลังจะออกกฎหมายในรายละเอียดเป็นที่ชัดเจนมาอย่างไร จึงจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เท่าที่ดูรายละเอียดเบื้องต้นจากข่าว ทางสุราชุมชนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากมาตรการดังกล่าวและอาจมีแต่เสียไม่มีได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชุมชนในประเทศที่ผลิตไวน์จะเดือดร้อน เพราะภาษีไวน์ที่นำเข้าเป็นศูนย์ ทำให้นำมาขายในประเทศได้ถูกกว่าของชุมชน
อีกทั้งปัจจุบันสุราชุมชนก็ติดกรอบข้อกำหนดยิบย่อยที่มาควบคุมกันอยู่ในแง่การผลิต การโฆษณา การจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ถ้ามีมาตรการดังกล่าวออกมา ก็เท่ากับว่าสุราชุมชนของไทย ไม่มีโอกาสแข่งขันกับสุรานำเข้าได้เลย ส่วนการลดภาษีสุราชุมชนในประเทศนั้น มีรายละเอียดปลีกย้อยเรื่องดีกรี ส่วนผสม กระบวนการผลิตมากมายที่ต้องเข้าเงื่อนไข ตรงนี้มองว่าจะมีสุราชุมชนที่ได้รับการลดภาษีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น และเมื่อแลกกับการต่อสู้กับของนอกที่จะทะลักเข้ามา อนาคตของสุราชุมชนไทยเจอปัญหาแน่นอน
นายปกิธพลธณ์ กล่าวว่า การละเว้นภาษีใด ๆ ให้สินค้าจากนอกประเทศ แล้วเข้ามาสู้กับสินค้าในประเทศนั้น ต้องคิดให้ดี เราควรตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อรักษาสินค้าและผู้ประกอบการในประเทศมากกว่า และตัวเลขรายได้จากภาษีซึ่งเป็นรายได้ประเทศในส่วนนำเข้านี้ จะหายไปมหาศาล สุราชุมชนถือเป็นภูมิปัญญาไทยมาหลายชั่วอายุคน กระแสที่เกิดขึ้นพอนานไปก็แผ่วลง วันนี้ก็ยังไม่สามารถปลดล็อคในเรื่องหลัก ๆ ที่สำคัญได้
การยกเว้นภาษีนำเข้าอาจทำให้ทุนใหญ่ไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำเข้ามาได้โดยเสรี ไม่มีภาษีใดๆ เกิดการครองตลาด เพราะต้นทุนการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านทั้งค่าแรงและอื่นถูกกว่าผลิตในประเทศมาก ขณะที่สุราชุมชนที่ผลิตในประเทศต้นทุนสูงกว่า อีกทั้งไทยมีกรอบการค้าเสรีอาฟต้า อาเซียน+จีน ต่อไปเหล้าจากจีน ฟิลิปินส์ เวียดนาม จะทะลักเข้ามา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
“ประเด็นที่เครือข่ายสุราชุมชนเรียกร้องมาตลอดและเป็นหัวใจหลัก คือ การแก้ไขมาตรา 32 ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ห้ามเรื่องการโฆษณา ที่เหมือนการมัดมือมัดเท้าสุราชุมชน ห้ามเล่าเรื่อง ห้ามเล่าสตอรี่เชิงภูมิปัญญา ห้ามขายออนไลน์ ตรงนี้ทำให้สุราชุมชนไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมทั้งปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมนโยบายซอฟพาวเวอร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญหา สินค้าชุมชน อยากให้มองว่าสุราชุมชนไทยทุกประเภท ก็คือซอฟพาวเวอร์ที่รัฐต้องให้การสนับสนุนด้วย เพราะคือวิถีที่เราทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คนไทยเก่งภูมิปัญญาด้านนี้มายาวนาน แต่น่าเจ็บปวดที่เราบอกเล่าไม่ได้ พานักท่องเที่ยวไปเรียนรู้การตัดอ้อย ตัดน้ำตาลจากมะพร้าว นำข้าวเหนียวมาทำไม่ได้ แม้กระทั่งข้าวหอมมะลิของไทยเราก็เล่าเรื่องไม่ได้ ขณะที่ญี่ปุ่นเอาข้าวหอมมะลิไทยไปทำ แล้วกลับมาขายเราได้ เราจึงแข่งกับสุราต่างประเทศไม่ได้ เราอยากเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้ผ่านออนไลน์ ดังนั้นซอฟพาวเวอร์สุราชุมชนจะเกิดได้ ต้องปลดล็อคมาตรา 32 เมื่อเล่าเรื่องได้ ต่อไปสุราชุมไทยก็ส่งออกได้” นายปกิธพลธณ์ กล่าว
นายปกิธพลธณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่อ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนภาคท่องเที่ยวนั้น ต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ต้องการบริโภคสุราชุมชนไทย กินของไทย ภูมิปัญญาไทย เราควรส่งเสริมสุราชุมชนไทย ไม่ใช่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อสุรานำเข้าปลอดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยว การไปละเว้นภาษีของนอกที่นำเข้ามาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น จะทำให้สุราชุมชนแข่งขันไม่ได้และจะสูญหายกันหมดในอนาคต เพราะเราไม่สามารถไปเล่าหรือบอกกับนักท่องเที่ยวได้ ผู้ประกอบการรายย่อยก็จะซื้อสุรานำเข้าเพราะถูกกว่าไปจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เท่ากับว่าไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าโดยแท้จริง อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูรายละเอียดกฎกระทรวงที่จะออกมาอีกครั้งหนึ่ง