‘เศรษฐา’ ประกาศข่าวดี เผย ‘ไทย-จีน’ ยกเว้น ‘วีซ่า’ ถาวร เริ่ม 1 มี.ค.67 ขณะที่ ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ลดภาษี ‘สุราพื้นบ้าน’ เหลือ 0% ขณะสื่อจีนรายงานยืนยันข่าวยกเลิกวีซ่า ชี้นโยบายยกเลิกวีซ่าเข้าจีนให้ 6 ประเทศก่อนหน้าเพิ่มนักเดินทางเข้าจีน 28.5% เทียบกับเดือน พ.ย.
.......................................
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา เราได้มีการยกเว้นวีซ่าให้กับคนจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยจะยกเว้นวีซ่าให้ไปจนถึงวันที่ 29 ก.พ.2567 ซึ่งใกล้จะหมดเขตแล้ว แต่รัฐบาลนี้มีนโยบายที่จะยกระดับความภาคภูมิใจของพาสปอร์ตไทย ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าให้ดีจะต้องยกเว้นเรื่องการขอวีซ่าของทั้ง 2 ประเทศ
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อเดือนกว่าที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ยกเว้นวีซ่าให้กับ 5 ประเทศ ไม่มีประเทศไทยอยู่ด้วย แต่นั่นเป็นการยกเว้นวีซ่าชั่วคราว ซึ่งจริงๆแล้ว ตนมีเหตุผลที่ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ เพราะเรากำลังพูดคุยกับจีนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าถาวรอยู่ และวันนี้มีข่าวดีว่า จีนจะยกเว้นวีซ่าถาวรให้กับคนไทยที่เดินทางไปประเทศจีน โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มี.ค.2567 ทำให้ต่อไปนี้การเดินทางไปกลับของ 2 ประเทศ ไม่ต้องมีวีซ่า ซึ่งกันและกันแล้ว
“วันนี้มีข่าวดีว่า จะมีการยกเว้นวีซ่าถาวร เริ่มต้นวันที่ 1 มี.ค. แสดงว่าไปกลับทั้ง 2 ประเทศ ไม่ต้องมีวีซ่าซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ ยกระดับสำคัญของพาสปอร์ตไทย ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาทั้ง 2 ประเทศ ก็มีการชี้แจงไปที่กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ขณะนี้เราพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ แล้วก็จะดูแลนักท่องเที่ยวของ 2 ประเทศ ซึ่งกันและกันให้ดีด้วย อันนี้เป็นเรื่องน่ายินดี” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศ ครม. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและภาษีอากรประเภทต่างๆ เช่น เรื่องของภาษีสุราพื้นบ้านนั้น จะปรับภาษีเป็น 0% พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตไปทบทวนกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกี่ยวกับสุราพื้นบ้านด้วย
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ในส่วนปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งเป็นปัญหากับพี่น้องชาวประมงไทยนับแสนคนนั้น ได้มีการเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมง 1,200 ลำ เพื่อแก้ไขปัญหาประมงไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้เกิดการสร้างงานกว่า 2 หมื่นคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคืนชีวิตให้กับชาวประมงไทย
นายเศรษฐา ยังให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม. ว่า มาตรการ easy e-Receipt ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567 เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ของรัฐบาล จึงขอให้กรมประชาสัมพันธ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงรายละเอียด ระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยตามวัตถุประสงค์ของมาตรการดังกล่าวด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข่าวการยกเลิกวีซ่าของประเทศจีนนั้น สำนักข่าวซีซีทีวี ได้รายงานข่าวยืนยันคำพูดของนายเศรษฐาเช่นกัน และรายงานต่อไปว่าข้อมูลเมื่อวันที่ 2 ม.ค. จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ จีนได้ใช้นโยบายปลอดวีซ่าฝ่ายเดียวสําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาจากหกประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมาเลเซีย โดยการยกเว้นหกประเทศดังกล่าวมีผลไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566
ข้อมูลต่อมาในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 พบว่ามีผู้คนเดินทางมายังจีนจากหกประเทศดังกล่าวข้างต้นรวม 214,000 คน เพิ่มขึ้น 28.5% จากเดือน พ.ย. ในจํานวนนี้มีประชาชนเดินทางเข้าประเทศจีนด้วยหนังสือเดินทางธรรมดาโดยไม่มีวีซ่ารวม 118,000 คน คิดเป็น 55.1% ของจํานวนคนเดินทางเข้าประเทศจีนจากทั้ง 6 ประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเหตุผลในการเข้าประเทศ พบว่ามีผู้เข้าประเทศทั้งหมด 91,000 คนมาที่มาประเทศจีนเพื่อเที่ยวชมสถานที่พักผ่อนและดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ
โดยในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศจีนที่ใช้หนังสือเดินทางธรรมดาโดยไม่ต้องขอวีซ่านั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 77.3 %
@ไฟเขียวรื้อภาษี ‘สุราพื้นบ้าน-ไวน์-สถานบันเทิง’
วันเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ และรับทราบ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอชุดมาตรการ จำนวน 2 มาตรการ ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ดังนี้
1.การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุราบางประเภท และการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราวสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ เพื่อจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อยใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สินค้าสุรา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 13 สินค้าสุรา และปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
(1) สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
(2) สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
(3) สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้
3.1) อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
3.2) สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
-สุราแช่อื่นๆ นอกจาก 3.1 และ 3.2 โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
(4) สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่
1.2 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ
กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้ยกร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่าจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ประเภทที่ 17.01 ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ ให้ร่างกฎกระทรวงฯมีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึง 31 ธ.ค. 67 และตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 จะกลับมาใช้อัตราภาษีตามมูลค่าเดิม คือ ร้อยละ 10
1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์
กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้ยกร่างประกาศ กค. เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 (ฉบับที่...) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรศุลกากรสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย และให้ลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เป็นยกเว้นอากร
@ปรับปรุงหลักเกณฑ์'นักท่องเที่ยว'ขอคืน VAT
2.การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉ. 254) เรื่องกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตาม ม.84/4 แห่งป. รัษฎากร ลงวันที่ 27 พ.ย. 66 และให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 66 สรุปได้ดังนี้
- ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75
- ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ (Luxury Goods) ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเปา (ไม่รวมกระเปาเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และปรับเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป
“ในภาพรวม มาตรการดังกล่าวที่กระทรวงการคลังเสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073”นายชัย กล่าว