‘สุริยะ’ นัดเอกชน บจ. EBM หารือด่วน 14.00 น. วันนี้ (3 ม.ค. 67) หลังเกิดเหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดกระแทกใส่รถประชาชน ด้าน ‘สุรพงษ์’ คาดอุบัติเหตุล้อหลุด เกิดจากการผลิตของโรงงาน ชี้วงรอบล้อใช้งานได้ 300,000 ชม. แต่อุบัติเหตุล้อใช้งานไปเพียง 60,000 ชม.เท่านั้น ก่อนยืนยันรถไฟฟ้าในให้บริการยังมีความปลอดภัย 100%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่บริเวณถนนเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) เมื่อเวลา 18.21 น. วันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า ได้เน้นย้ำกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าเรื่องนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทำให้ประชาชน ไม่สบายใจ โดยวันนี้ (3 ม.ค. 67) ช่วง 14.00 น.ได้เชิญ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง มาประชุมหารือกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเป็นเรื่อง การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน หรือ Preventing Maintenance ที่อาจไม่เพียงพอ หย่อนยานไปหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบข้อสัญญาด้วยว่า ต้องมีการลงโทษกับผู้ให้บริการอย่างไร
“ในเรื่องอุบัติเหตุของระบบคมนาคมรวมถึงอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทำมาตรการควบคุมการทำงาน โดยจะทำเป็นสมุดพก บันทึกการทำงานผลงานของเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับทุกหน่วยงานของกระทรวง หากทำงานมีปัญหาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจะนำไปสู่การลงโทษ เช่น ห้ามเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงฯ และจะมีการลดลำดับชั้นผู้รับเหมา เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างหารือกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะ จะกำหนดเกณฑ์ออกมาชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้”นายสุริยะกล่าว
@ล้อหลุด จากการผลิตของโรงงาน
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ จากการตรวจสอบ พบว่า วงรอบชั่วโมงการใช้งานจะอยู่ที่ 300,000 กว่าชั่วโมง แต่ปัจจุบัน การใช้งานอยู่ที่ 60,000 กว่าชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งสาเหตุเบื้องต้น ที่ทำให้ล้อประคองหลุดได้ข้อสรุปว่า เป็นปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดจากการผลิตที่โรงงาน ซึ่งได้มีคำสั่งหยุดการนำใช้งาน อุปกรณ์ที่อยู่ในล็อตดังกล่าวแล้ว ส่วนข้อสันนิษฐานว่าล้อหลุดเกิดจากความร้อน ตนยังไม่แน่ใจ ต้องตรวจสอบละเอียดก่อน คาดว่าจะเป็นเฉพาะบางอันแต่ระงับใช้ไปแล้ว ซึ่งจะต้องตรวจสอบพิสูจน์เชิงลึกต่อไป ว่าเป็นเรื่องเบ้าลูกปืน หรือความร้อน
ส่วนรถที่วิ่งให้บริการตอนนี้ จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ 100% ทุกระบบ ยืนยันว่าปลอดภัย โดยได้มีการสั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมกับ EBM ในการตรวจเช็คระบบโดยละเอียดทุกขบวน ก่อนนำออกวิ่งบริการในวันนี้
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การให้บริการในวันนี้ ความถี่ลดลง ไม่เหมือนปกติ ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งบ่ายนี้ หลังประชุมและกำหนด มาตรการความปลอดภัยแล้ว จึงจะอนุมัติทั้งระบบอีกที อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้า เป็นการขนส่งมาวลชนสาธารณะที่มีความจำเป็น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องหามาตรการที่มีความปลอดภัยสูงสุด จึงจะปล่อยให้นำรถออกวิ่งให้บริการได้
“กรณีสายสีชมพู ที่เกิดก่อนหน้านี้ เป็นจากอุบัติเหตุ ที่มีการดึงแผ่นเหล็กด้านล่าง แต่สายสีเหลืองนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของระบบจริงๆ ซึ่ง รถไฟฟ้าที่เป็นระบบโมโนเรล ล้อจะอยู่ด้านนอก ไม่เหมือนรถไฟฟ้าเฮฟวี่เรล ดังนั้นต้องหาวิธีหรือ อุปกรณ์ที่จะปกป้องล้อ หรือทำเย่างไรเพื่อให้ด้านใต้โครงสร้างมีความปลอดภัย”นายสุรพงษ์กล่าว
วันนี้(3 ม.ค. 67) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มีการตรวจเช็กล้ออย่างละเอียด ก่อนปล่อยให้บริการ โดยแจ้งปรับรูปแบบการเดินรถ โดยเปิดให้บริการทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. จากปกติให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน ทุก 5 นาที และนอกชั่วโมงเร่งด่วน ทุก 10 นาที