สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 วันที่ 1 ม.ค.67 เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 422 คน ผู้เสียชีวิต 62 ราย สาเหตุหลัก ขับรถเร็ว 39.14%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และนายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 422 คน ผู้เสียชีวิต 62 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 1 ม.ค. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,570 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,574 ราย ผู้เสียชีวิต รวม 190 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้กำชับดูแลกวดขันในการเรียกตรวจขับรถเร็ว - ง่วงหลับใน พร้อมแนะผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
นายแพทย์ธงชัย ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 422 คน ผู้เสียชีวิต 62 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.14 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.55 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.51 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.44 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.86 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 33.17 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 01.00 น. ร้อยละ 10.26 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 17.36 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,785 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,672 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา (จังหวัดละ 15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (22 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (5 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 1 มกราคม 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,570 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,574 คน ผู้เสียชีวิต รวม 190 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (57 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (56 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2 ม.ค. 67) ประชาชนบางส่วนเดินทางถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ แล้ว บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ทำให้ถนนสายหลักในบางจุดมีปริมาณการจราจรหนาแน่น
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดปรับแนวทางการดูแลความปลอดภัยให้สอดคล้องกับการเดินทางและปัจจัยเสี่ยง โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในจุดตรวจและบริการประชาชนในเส้นทางสายหลัก ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยการจราจรให้มีความคล่องตัว ควบคู่กับการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับรถเร็วในเส้นทางตรงที่ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ต่อเนื่อง อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจยานพาหนะและรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล อาสาสมัคร กู้ชีพกู้ภัย ให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุและรับส่งผู้ประสบเหตุอย่างรวดเร็ว
นายไชยวัฒน์ เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า วันนี้คาดว่าเส้นทางสายหลักยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำชับให้จังหวัดสนธิกำลังอาสาสมัครอำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัยและไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองและเสี่ยงอันตราย รวมถึงตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังตกค้างในสถานีขนส่งต่าง ๆ ให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนดูแลสภาพร่างกายให้พร้อมขับขี่ และตรวจเช็คสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับ ไม่ขับรถเร็ว ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด หยุดพักรถทุก 1 - 2 ชั่วโมง ไม่ฝืนขับรถ เมื่อมีอาการง่วงนอนให้จอดพักรถตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ท้ายนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป