รมว.แรงงานเผย ครม.รับทราบ มติขึ้นค่าแรงตามที่บอร์ดไตรภาคี ยืนยันมติเดิมเริ่ม 1 ม.ค. 67 ‘พิพัฒน์’ แก้เก้อรายงานครม. เตรียมเสนอบอร์ดไตรภาคีตั้ง อนุฯ 1 ชุด สแกนปัจจัยที่กระทบค่าแรงทุกพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การขึ้นค่าแรงช่วงสงกรานต์ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้นำมติขอขึ้นค่าแรงจากคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมาที่ยืนยันเหมือนเดิม แจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งตนขออนุญาตนายกรัฐมนตรีว่าวันที่ 17 ม.ค. 2567 นี้ คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้ง และตั้งอนุกรรมการไตรภาคีขึ้นมาศึกษารายละเอียดถึงรายวิชาชีพ ในระดับอำเภอ และอาจซอยย่อยไปถึงระดับเทศบาลด้วย เพราะการประกาศรายจังหวัดสะท้อนภาพเป็นจริงส่วนหนึ่ง ไม่เป็นจริงอีกหลายๆส่วน ที่พอออกนอกพื้นที่อำเภอ ออกนอกเทศบาลเมือง ก็จะเข้าสู่สังคมชนบท ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้ดีเหมือนตัวเมืองหรือเขตเทศบาล จึงต้องขอตั้งอนุกรรมการศึกษารายละเอียด และจะขอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกครั้ง เพื่อนำเข้าคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ในเดือนมีนาคม และจะประกาศการขึ้นค่าแรงอัตราใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ไทย คือช่วงวันสงกรานต์ 2567 เพื่อดูว่าพื้นที่ไหนจะปรับค่าแรงขั้นต่ำได้สูงกว่า ซึ่งหากเจาะรายละเอียดเชิงลึกตั้งแต่รายอาชีพ เทศบาล อำเภอ มั่นใจว่าค่าแรงขั้นต่ำในชุมชนเมืองต้องดีกว่าวันนี้แต่บางพื้นที่ก็คงเดิม
นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสูตรการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้ฐานปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 จะไม่นำมาพิจารณา แต่จะใช้ข้อมูลปี 2565 มาเป็นฐานในการคำนวณ รวมถึงข้อมูลดิบปี 2566 มาเป็นองค์ประกอบตัวชี้วัดด้วย หากทำได้ในแต่ละพื้นที่ มั่นใจว่าหลายอาชีพจะปรับค่าแรงขั้นต่ำได้ ซึ่งไม่ได้ประกาศครอบจักรวาลเหมือนทุกวันนี้
เมื่อถามว่า แสดงว่าในจังหวัดเดียวกันไม่จำเป็นต้องได้ค่าแรงอัตราเดียวกันใช่หรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ไม่จำเป็น”
ด้านนายชัย วัชวงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ครม.รับทราบ ตามที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เสนอมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (กรรมการไตรภาคี) โดยยืนยันตามเดิมในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 -16 บาท แบ่งเป็นระดับค่าจ้าง 17 ขั้น ขั้นต่ำสุดเพิ่มจาก 328 บาทเป็น 330 บาท หรือเพิ่ม 2 บาทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนที่มีการปรับเพิ่มสูงสุดคือจังหวัดภูเก็ต ขึ้นจาก 354 บาท เป็น 370 บาท เริ่ม 1 ม.ค.2567