กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้ายื่นหนังสือถึง รมว.สธ.เสนอ 7 ข้อเรียกร้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช จี้ สปสช.ผลักดันยา 4 ตัว เข้าบัญชีหลักแห่งชาติฯ-ใช้บัตร ปชช.รักษาได้ทุกที่ ด้าน 'ชลน่าน'ลั่นเป็นหนึ่งในนโยบายควิกวิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 น.ส.ฐิตินบ โกมลนิมิ กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า พร้อมด้วยตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า ทั้งผลักดันยาเข้าสู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการกระจายการบริการผู้ป่วยจิตเวชให้มากขึ้น
น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ โดยแนวโน้มผู้ป่วย 1.5 ล้านคนเฉพาะประชากร 15 ปีขึ้นไป แต่หลังโควิดกลับพบว่ากลุ่มคนทำงาน เด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคซึมเศร้า และอัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้น ทั้งๆที่โรคนี้รักษาหาย แต่เมื่อเข้าถึงการรักษายากลำบาก หยุดกินยา เพราะเข้าถึงยาไม่ครอบคลุม การไม่มีทางเลือกการรักษาด้วยยาหลากหลายก็ทำให้ป่วยซึมเศร้าได้อีก กลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง ทางเครือข่ายฯจึงขอเสนอให้สปสช.เร่งรัดพิจารณาที่กรมสุขภาพจิต และราชวิทยาลัยจิตเวชแห่งประเทศไทย เคยเสนอยา 4 ตัวตั้งแต่ปี 2564 เพราะตอนนี้หน่วยบริการเรียกเก็บยาราคาแพง เก็บเป็นเงินส่วนต่าง กลายเป็นภาระ ทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าอยากหยุดรักษาตัวเอง
ในวันนี้จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “เพิ่มยาต้านเศร้าและยาจิตเวช” คือ 1. Olanzapine เพิ่ม indication 2. Aripiprazole 3.Venlafaxine และ 4. Long acting Methylphenidate ซึ่งเป็นยาสำคัญ จำเป็นต่อผู้ป่วย และดีกว่ายาที่มีในระบบขณะนี้ ตามคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อต่อรองราคายาให้ถูกลง นำไปสู่การทำระบบเบิกจ่ายยา ส่งยาตรงไปถึงโรงพยาบาล คลินิคจิตเวช และร้านยาทั่วประเทศ และเร่งแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่ายาส่วนต่างจากผู้ป่วย รวมทั้งผลักดันยาดังกล่าวให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสุขภาพโดยรวม
2.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่ไหนก็ได้ ภายใต้นโยบายทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และมติคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งจะเริ่มในปี 2567 ควรครอบคลุมโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงบริการ และการส่งต่อข้ามเครือข่าย ทั้งนี้ ควรมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในระบบสุขภาพ และในเขตเมือง เพื่อให้การรักษา ติดตาม อาการ จนอาการดีขึ้น และหายป่วย โดยไม่ต้องรอใบส่งต่อเป็นครั้ง ๆ จากหน่วยบริการเจ้าของสิทธิ
3.ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ พัฒนาระบบ ส่งเสริมผู้ป่วยซึมเศร้าและจิตเวชเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินส่วนต่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพใจควบคู่กับการใช้ยา และเตรียมพร้อมคืนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy-CBT) เป็นต้น
4.สปสช. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ให้เป็น “หน่วยแรกรับและสายปรึกษาสุขภาพจิตครบวงจร” ทำงานเชิงรุกรับฟัง ให้คำปรึกษา ติดามประเมินภาวะอาการของโรค และสามารถส่งต่อหน่วยบริการให้ผู้ใช้บริการได้ เพื่อช่วยลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุจากโรคจิตเวชให้ลดลง ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้าจำนวนมากกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
5. การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องในทุกระบบหลักประกันสุขภาพต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน จึงเสนอให้ สปสช. เป็นองค์กรกลางจัดประชุมทุกกองทุนสุขภาพ (กองทุนประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นต้น) เพื่อวางแนวทางให้กองทุนต่าง ๆ ให้บริการได้ตามสิทธิประโยชน์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน
6.พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง หลังจากมีการจัดตั้ง “คลินิคจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” แล้ว ควรมีการพัฒนาแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง (Guideline for Depressive disorders) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในโรงพยาบาลทุกระดับมั่นใจในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า และสามารถรักษาด้วยยาต้านเศร้าเบื้องต้นได้ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพในการทบทวน “แนวทางการจัดการตาม ระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย” เพื่อใช้ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพจิต การให้สุขภาพจิตศึกษา และการรณรงค์ทางสังคม การให้คำปรึกษา การดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจ การรักษาส่งต่อทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิที่เคยจัดทำไว้ ร่วมกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
7.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาการขึ้นทะเบียนยาต้านซึมเศร้าที่ได้มาตรฐาน เฝ้าระวังเรื่องคุณภาพยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และติดตามการใช้ยาไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้สั่งจ่ายยาเกิดความมั่นใจในยาชื่อสามัญเพื่อการเข้าถึงยาได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนายานวัตกรรม ยาทางเลือกเพื่อประโยชน์ต่อผู้ต้องการใช้วิธีการรักษาที่ครอบคลุมและได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ได้รับเรื่องดังกล่าวและกล่าวกับทางกลุ่มฯ ว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุข และนโยบายควิกวินที่มีการดำเนินการแล้ว ส่วนประเด็นอื่นๆ รับทราบปัญหาและจะมีการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป