‘เศรษฐา’ สรุป 4 วันเยือนญี่ปุ่น ชี้พอใจมากให้ 8-9 เต็ม 10 เลย ชี้ไทย-ญี่ปุ่นใจถึงใจ ชวนลงทุนแลนด์บริดจ์และยินดีลงพื้นที่เจอชาวบ้าน ก่อนเผยเตรียมพบ ฮุนมาเนต ก.พ. 67 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลา 14.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ที่เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมASEAN-Japan วันที่ 4 พอใจมากกับผลของการเดินทางครั้งนี้ เพราะไทย-ญี่ปุ่นหุ้นส่วนใจถึงใจ heart to heart ทุกคนพูดคุยกันด้วยรอยยิ้มความเข้าใจล้วนมีปรารถนาที่ดีต่อกัน โดยในการเดินทางครั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้คะแนนความสำเร็จจากการพูดคุยกับเอกชน 8-9 จากเต็ม 10
ส่วนผลสำเร็จของการเดินทางครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากกว่า 60 ปีด้วยจำนวนเงินรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในการเดินทางครั้งนี้ได้พบกับนักธุรกิจรายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายราย ซึ่งผู้นำบริษัทเหล่านี้ล้วนเคยประจำที่ประเทศไทย ผู้ที่เคยประจำอยู่ที่ประเทศไทยและมาเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กรจะมีความลำเอียงตามธรรมชาติมีความชอบในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการลงทุนสิ่งที่บริษัทมีความต้องการ และรัฐบาลสามารถให้ได้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็จะทำให้เกิดความสบายใจที่จะร่วมธุรกิจกัน อาทิ supply chain ความมั่นคงทางการเมือง พลังงานสีเขียว วัตถุดิบ ความตกลงทางการค้า และอีกส่วนคือชีวิตความเป็นอยู่ของการดำรงชีวิตในประเทศไทย เมื่อคนญี่ปุ่นมาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีค่าครองชีพเหมาะสม มีโรงเรียนที่ดี ระบบสาธารณสุขที่ดี มีชีวิตที่ดีในประเทศไทย ทำให้ชื่นชอบการมาดำรงชีวิตในประเทศไทย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการลงทุนไทย-ญี่ปุ่นไม่เคยมีปัญหา ซึ่งนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้พบกับนายนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมเอเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ขอให้ไทยช่วยลดข้อจำกัดในเรื่อง visa ให้นักธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยก็จัดการให้อย่างดี
@พร้อมคุยคนพื้นที่ ‘แลนด์บริดจ์’
ในส่วนของ Landbridge ก็ได้พูดคุยเชิญชวนให้นักลงทุนมาร่วมทุนกับไทยในการทำโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในส่วนของการทำโครงการขนาดใหญ่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ เกิดเป็นตัวเงินหมุนเวียน การจ้างงานต่อประเทศ เห็นได้ชัดเจนว่านักลงทุนญี่ปุ่นสนใจ ให้ความสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ยังมีการบ้านต้องทำอีกเยอะ โดยเฉพาะกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านให้รัฐบาลลงไปพูดคุยกับคนในพื้นที่บ้าง ก็ต้องนำมาพูดคุยกัน และเป็นโครงการที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วย หากไม่ทำโครงการนี้ก็จะไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์มากขึ้น (High Profit) และด้านการใช้เทคโนโลยีระดับสูง
@มาญี่ปุ่นรอบนี้ให้ 8-9 เต็ม 10
ส่วนของภาพรวมการเดินทางครั้งนี้ และการพูดคุยกับนักธุรกิจ นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้คะแนน 8-9 เต็ม 10 เรียกว่าพูดคุยกับทุกบริษัทด้วยความสบายใจ อะไรทำได้ เราพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้บริษัท ส่วนอะไรที่ไม่ได้ก็พร้อมจะให้ทางเลือก ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอที่ร่วมทำงานกันมาอย่างดี
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่ามีอะไรที่อยากนำไปปรับปรุงในประเทศไทยบ้าง นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า มาครั้งนี้ยังไม่ได้ออกไปไหนเลย เป็นการมาพูดคุยเรื่องธุรกิจ เพื่อเสนอให้ญี่ปุ่นมีลงทุนในไทยมากขึ้น ให้เพิ่มการลงทุน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องของ Soft Power เมื่อกี้ไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตก้เห็นการ Packaging ที่มีระเบียบเรียบร้อย นำสินค้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี
@เล็งเยือนเขมร ก.พ. 67
นายเศรษฐากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้พบกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อีกครั้ง และได้พูดคุยว่า จังหวัดสระแก้วมีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากกัมพูชาจะสามารถยกระดับขึ้นได้อีก ทำให้เกิดความตกลงว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมากรุงเทพฯ และจะประชุมเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดน ร่วมมือเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า โดยฝ่ายกัมพูชาจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือให้เกิดการค้าการขนส่งร่วมกัน
ในส่วนของการพูดคุยกับบริษัท Panasonic ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ได้พูดคุยกันเรื่องการทำแบตเตอรี่ ซึ่ง Panasonic เป็นผู้ทำแบตเตอรี่ให้เทสล่า โดยบริษัท Panasonic กำลังพิจารณาสร้างโรงงานใหม่ มีความต้องการพื้นที่ทำโรงงาน 600 ไร่ และเห็นไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ทั้งนี้ Panasonic ลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 1961 แล้ว มีความผูกพันกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเบอร์สองของบริษัทเคยประจำการอยู่ที่ประเทศไทยมาตลอด