‘เศรษฐา’ มอง ‘พิธา’ วิจารณ์ผลงานรัฐบาล 100 วัน ไม่น่าหนักใจ เผยคุย 5 บริษัทยานยนต์ชวนลงทุนในไทย เน้นด้านรถ EV ก่อนแย้ม ‘อินโดฯ’ เริ่มสนใจแลนด์บริดจ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปภารกิจวันแรก (15 ธ.ค. 66) ช่วงเช้าได้พบหารือกับ นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่และได้พบกับนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกภายหลังรับตำแหน่งได้ยืนยันการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
ในส่วนของการสัมมนา BOI มีนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนกว่า 500 คนร่วมเข้ารับฟังการสัมมนาเป็นโอกาสยืนยันความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมาอย่างยาวนานและการลงทุนร่วมกัน และประเด็นที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พลังงานสีเขียว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โครงการขนาดใหญ่ของไทย Landbridge
@ขอ 5 บริษัทยานยนต์ ลงทุน EV
การหารือกับภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่
บริษัท Mitsui พูดคุยเกี่ยวกับการตรวจเจาะการส่งก๊าซ ซึ่งเป็นประเด็นที่สนใจและมีความชำนาญ
บริษัท Honda เป็นบริษัทที่ทำการลงทุนในประเทศไทยมานาน มีการลงทุนเยอะ มีแผนที่จะลงทุนอีกห้าหมื่นล้านบาทภายในห้าปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีให้เร่งการลงทุน EV หรือ Plug-in เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
บริษัท Nissan ยืนยันที่จะลงทุนกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยเป็นบริษัทที่เริ่มทำธุรกิจด้าน EV แล้ว
บริษัท Mitsubishi สนใจที่จะผลิตรถ Pickup EV ซึ่งเป็นประเภทรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการพัฒนาพลังงานสะอาด Zero Carbon
บริษัท Isuzu พร้อมลงทุน 32,000 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้วที่มีการลงทุน 20,000 ล้านบาทถือเป็นจำนวนการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้เร่งให้เริ่มลงทุนเร็วขึ้นและใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก
บริษัท Mazda มีทั้ง supply chain และฐานการผลิตในประเทศไทย เป็นบริษัทที่ใช้ไทยเป็นฐานและใช้ซัปพลายในไทยเยอะ
บริษัท Suzuki ลงทุนในไทยมานานแล้ว และขอให้ไทยส่งเสริมการลงทุนต่อ โดยในนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ผลิตมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศไทย
บริษัท Toyota เป็นบริษัทที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุดอยู่ในไทยมากกว่า 60 ปีแล้ว รุ่น Hilux ขายดีที่สุด ทั้งนี้ ประเด็นที่โตโยต้าห่วงกังวล คือ เรื่อง Charging Station โดยเมื่อรัฐบาลให้ความมั่นใจเรื่องนี้ ทางโตโยต้าก็จะเร่งการผลิต EV ให้เร็วขึ้น อีกส่วนคือ Toyota ทำเรื่อง Leasing ซึ่งตรงกับประเด็นที่รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา รัฐบาลได้เสนอให้โตโยต้าช่วยเรื่องการปรับหนี้ โดยทางโตโยต้าก็รับปากจะดูแลให้
ทั้งนี้ เมื่อได้หารือวันนี้แล้วทำให้ตระหนักถึงความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมากขึ้น และเมื่อหารือก็มีความสนใจด้านพลังงานไฮโดรเจน พลังงานทางเลือก และพลังงานน้ำ
โดย นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า 40% ของรถยนต์ที่ขายในช่วงมอเตอร์โชว์ปีนี้เป็นรถยนต์ EV ซึ่งยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นตัวเร่ง Charging Station / High Speed Charging ในประเทศไทยให้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรียืนยันพอใจในการเดินทางครั้งนี้มาก ทีมงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการบ้านมาอย่างดี ทำให้การพูดคุยกันเป็นไปด้วยมิตรภาพ เปิดโอกาสให้มีการเร่งการลงทุนได้อย่างลงตัว มั่นใจว่า โครงการเหล่านี้ทุกโครงการจะเกิดขึ้นภายในสี่ปี สำเร็จเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลนี้
@ไม่หนักใจ ‘พิธา’ วิจารณ์ 3 เดือนรัฐบาล
ในส่วนกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างชัดเจน อะไรที่ทำได้ทำก่อน ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พักหนี้ กระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนการลงทุน และไม่หนักใจกรณีที่ฝ่ายค้านจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจงการทำงานให้ชัดเจน รวมทั้งพยายามที่จะทำงานตาม Roadmap ซึ่งก็คือตั้งใจทำงานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่าช่วงเวลาวันที่ 19 ธ.ค. 2566 บ่าย ถึงเที่ยงวันที่ 22 ธ.ค. 2566 นายกรัฐมนตรีลางานไปพักผ่อน จะพาคุณแม่ และลูกๆ ไปเที่ยว แต่ก็ยังติดต่อได้ตลอดเวลา พร้อมทำงาน ตามที่เสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อแบกความหวัง และความฝันของประชาชน
@ขอ JETRO หนุนเปลี่ยนผ่าน EV
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการหารือกับผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และผู้บริหารบริษัทคูโบต้าว่า JETRO ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ติดต่อจะไปลงทุนที่ประเทศไทย ก็ได้มาขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยไทยเราหวังว่า จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ให้ความมั่นใจว่า การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต่อไป พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ดีมากกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนและกว่า 6,000 บริษัทที่มาทำงานในประเทศไทย ฉะนั้นตรงนี้ทุกอย่างมองตาก็รู้ใจอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า JETRO อยากให้รัฐบาลสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ก็ดูแลในเรื่องระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็มีการสนับสนุนอยู่แล้ว และจากที่เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.66) ได้พบกับ 7 บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ก็ได้ให้ความชัดเจนเรื่องของนโยบายที่จะสนับสนุน พร้อมชี้แจงว่าอยากให้เข้ามาลงทุนเร็วขึ้น โดยหลายบริษัทก็รับไปพิจารณาต่อ
ทั้งนี้ ไทยยืนยันในเรื่องของสนธิสัญญาทางการค้า (FTA) ระหว่างไทย อียู และสหราชอาณาจักร ที่ขับรถพวงมาลัยขวาตรงนี้ก็มีการยืนยันว่าจะเร่งเจรจาให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในไทย เพราะโดยเฉลี่ยในประเทศใช้เอง 30% ส่งออก 70% ดังนั้นการที่เราเร่งในเรื่องนี้ให้เยอะขึ้น ก็จะเป็นการย้ำว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถควบคุมได้
ส่วนการเปลี่ยนขยับไปทำเรื่องโรงงานอีวี ก็เร็วขึ้นในบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะของอีซูซุ และโตโยต้า
@จีบคูโบต้า ขอเทคโนโลยีช่วยด้านการเกษตร
ส่วนการหารือกับผู้บริหารคูโบต้า จะมีความร่วมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับเกษตรกรไทยอย่างไรบ้างนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารคูโบต้าถือเป็นการประชุมที่ดีมาก ตอนแรกเข้าใจผิดว่า คูโบต้าขายแต่รถไถอย่างเดียว แต่คูโบต้ามีเทคโนโลยีเรื่องของการอัดแน่นซังข้าวโพดที่ไปทำถ่านไร้ควันและเชื้อเพลิง รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชของอนาคต และปัจจุบันในเรื่องของการไถและเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งทางคูโบต้าทำได้ดีอยู่แล้ว แต่พืชในอนาคตของประเทศไทย เช่น ถั่วเหลืองไทยนำเข้าปีละล้านตัน แต่ไทยเราผลิตเองได้เพียงหลักหมื่น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวที่ไม่คุ้มต้นทุน ฉะนั้น จึงพูดคุยกับทางคูโบต้าที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการทำระบบชลประทานในภาคการเกษตร ซึ่งระบบครบวงจรเกษตรกรรมทางคูโบต้าดำเนินการอยู่ มีการตกลงว่าไทยจะไปดูสถานที่ และให้ทางคูโบต้ามาช่วยกันพัฒนา ตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้เราเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็นสามเท่าภายในสี่ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องดี อีกทั้งทางประธานใหญ่คูโบต้าก็ให้การสนับสนุนเต็มที่
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ตนได้ขอให้คูโบต้าทำเรื่องการให้เงินกู้กับสัญญาเช่าซื้อมากกกว่าการขายอย่างเดียว และให้ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ ทีมงานก็จะไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
@อินโดฯ สนแลนด์บริดจ์
ส่วนความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ นายกรัฐมนตรีระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายในงานสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จากนี้บีโอไอ กระทรวงคมนาคมจะต้องตามเรื่องดังกล่าวต่อกับนักลงทุน และในเรื่องนี้บริษัทในอาเซียนเอง เช่น จากประเทศอินโดนีเซียก็ให้ความสนใจ ซึ่งก่อนเดินทางมาญี่ปุ่นก็มีเอกชนกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มาเจอตน โดยแสดงความสนใจอย่างมากที่จะร่วมลงทุนด้วย ซึ่งก็ต้องพูดคุยกัน เพราะผลประโยชน์ของภูมิภาคนี้ ขึ้นอยู่กับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่าการพูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ประเทศไทยจะนำเสนออะไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะบอกถึงความตั้งใจในการดำเนินโครงการ เพราะปริมาณสินค้าที่ขนถ่ายผ่านช่องแคบมะละกา เช่น น้ำมัน ที่ทั่วโลกใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนส่งถึง 60% ซึ่งช่องแคบมะละกามีความแน่น อาจเกิดอาจเกิดอุบัติเหตุได้ และทำให้มีความล่าช้าในการขนส่งต้นทุนก็อาจสูงขึ้น ฉะนั้น การที่เราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ใช่การแย่งธุรกิจ เพราะกว่าจะเสร็จประมาณ 10 ปีปริมาณการค้าทางทะเลทั่วโลกก็จะสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนบ้านเราทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ที่คาดว่ารายได้ตรงนี้จะหายไป เพราะผลสำรวจเบื้องต้นการค้าขายทางเรือจะสูงขึ้น แต่หากไม่มีจะเป็นปัญหาและช่องแคบมะละกาในปัจจุบันมีความหนาแน่น หากเราสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะช่วยการขนส่งของทั้งโลก